One Team 5 สำนัก สพฐ.  Plus สสวท.  ผสานกำลังมุ่งยกระดับความฉลาดรู้ทางการเรียนระดับนานาชาติ วางรากฐานทุกช่วงวัย จากการอ่านไปสู่สมรรถนะผู้เรียน

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานในการประชุมร่วมมือทางการศึกษา ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยมี นายพรชัย อินทร์ฉาย รักษาการ ผอ.สสวท. และคณะทำงาน สสวท. รวมถึงคณะทำงาน ONE TEAM สพฐ. ประกอบด้วย ผอ.สวก., สทศ., สบว., สบน., ศนฐ. และทีมวิชาการของรองเลขาธิการ กพฐ.  เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ โดยทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันกำหนดกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพความฉลาดรู้ของนักเรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ เพื่อการพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียน ผ่านกระบวนการอ่านไปใช้ในการแก้ปัญหา หรือปฏิบัติงานในสถานการณ์ของโลกความจริง และเชื่อมโยงบูรณาการกันในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ 

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ. ให้ความสำคัญกับการอ่าน อ่านรู้เรื่อง อ่านจับใจความ จับประเด็น นำสู่การคิดแบบมีเหตุผล และการเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างให้เด็กมีความเพลิดเพลินในการอ่าน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา แล้วเสริมเติมเต็มด้วยกิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่านที่หลากหลายด้วยการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อเป้าหมายสำคัญที่ต้องการให้บรรลุตามมาตรฐานและตัวชี้วัด เกิดสมรรถนะและความฉลาดตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ ซึ่งขั้นตอนกระบวนการในการขับเคลื่อนของ One Team Plus แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การสื่อสารสร้างความเข้าใจให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั่วประเทศผ่านระบบประชุมทางไกล VDO Conference ระยะที่ 2 ประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพความฉลาดรู้ของนักเรียนผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกในชั้นเรียน (Active Learning) ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยทีมวิทยากร One Team สพฐ. และทีมวิทยากรจาก สสวท. และระยะที่ 3 การนิเทศ กำกับและติดตามผลการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพความฉลาดรู้ของนักเรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติในแต่ละภูมิภาค 

“จากการประชุมวันนี้ ได้เห็นภาพความร่วมมือของ 2 หน่วยงานอย่างชัดเจน ทั้ง สพฐ. และ สสวท. ได้มีการพูดคุยร่วมกันถึงแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพความฉลาดรู้ของนักเรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ และสอดคล้องกับข้อห่วงใยของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการวางแผนเชิงระบบที่ตอบทุกโจทย์และยกระดับคุณภาพนักเรียนสู่เป้าหมายนานาชาติ ทั้งในเรื่องระดับสมรรถนะของนักเรียนไทยจำแนกตามความฉลาดรู้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย การประเมินความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนไทย รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ของนักเรียนไทย สุดท้ายแล้วผลจากความร่วมมือในครั้งนี้ก็จะสะท้อนออกมาที่คุณภาพของผู้เรียน ซึ่งไม่เพียงเห็นผลในระดับท้องถิ่นหรือภายในประเทศเท่านั้น แต่สามารถเทียบเคียงมาตรฐานในระดับนานาชาติ ทำให้การจัดการศึกษาของไทยเป็นการทำงานเชิงรุก มีการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอยู่เสมอ และส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศในที่สุด” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว