ลงโทษนักเรียน นักศึกษา อย่างไรจึงจะไม่ถูกผู้ปกครองฟ้องร้องความผิด

ลงโทษนักเรียน นักศึกษาอย่างไร
จึงจะไม่ถูกผู้ปกครองฟ้องร้องความผิด
ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4 ทุกวันนี้มักจะมีข่าวจากวิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์กรณีที่ครูลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุจน
ผู้ปกครองร้องเรียนผ่านสื่อต่างๆ เพื่อฟ้องร้องเอาความผิดกับครู จึงอยากจะนำเรื่องการลงโทษนักเรียนมาเล่าสู่กันฟัง
อย่างน้อยก็จะทำให้ครูเราได้ระมัดระวังสำหรับที่จะลงโทษนักเรียน ต้องลงโทษให้ถูกต้องกับระเบียบที่ได้เปลี่ยนแปลงไป
การลงโทษนักเรียนมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้นักเรียนที่ถูกครูลงโทษต้องหลาบจำ และไม่ทำพฤติกรรมเช่นนั้นอีก
โดยต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ถูกต้องดีงามตามที่สังคมกำหนด
แนวคิดของจุดประสงค์ของการลงโทษนักเรียนยังมีอยู่ถึงแม้ว่าจะมีวิธีการที่เปลี่ยนไป
แต่จุดประสงค์หลักยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะแนวคิดด้านการลงโทษนักเรียน
นักศึกษาได้พัฒนาไปมาก มีการศึกษาวิจัยถึงระดับปริญญาเอก โดยสาระสำคัญ
ต้องการให้การลงโทษเกิดประโยชน์กับสังคมและปัจเจกบุคคลมากที่สุด จะเห็นได้ว่า
ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการลงโทษจากวิธีที่ใช้การเฆี่ยนตี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจ
ทำให้นักเรียนเก็บกดกลายมาเป็นการแก้ไขพฤติกรรม และการจำกัด หรือกักขัง ไม่ให้สร้าง
ความเดือดร้อนให้กับสังคมหรือผู้อื่น หรือการตัดคะแนนความประพฤติแทนการเฆี่ยนตี ซึ่งเป็นแนวคิดของ
นักการศึกษาและนักจิตวิทยา การลงโทษนักเรียนนักศึกษา แนวคิดการลงโทษเป็นความจำเป็นในการสร้างคนให้มีคุณภาพ ถึงกับมีคำกล่าวว่า
“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” และเมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ไม้เรียว” เชื่อว่าใครหลายๆ คนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูง
หรือ เป็นเพียงพนักงานธรรมดา ๆ ก็คงจะเคยผ่านการอบรมบ่มเพาะจากโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษามาอย่างเข้มข้นคง
ได้เคยสัมผัสและรู้จักรสชาติของไม้เรียวแล้วบ้างโดยเฉพาะคนรุ่นก่อนๆ
ถ้ามองย้อนกลับไปถึงนัยของการทำโทษนักเรียนนักศึกษาในอดีต ดูเหมือนจะถูกทำโทษด้วยไม้เรียวกันเป็นประจำจนเป็นเรื่องปกติ
และเมื่อมีงานเลี้ยงรุ่นของบรรดาศิษย์เก่าของโรงเรียนต่างๆ ที่มารวมตัวกันต่างนำเรื่องการโดนไม้เรียวหรือการทำโทษต่างๆ เช่น เดินเป็ด
ขนมจีบ สองเกลียวบิดพุง คาบไม้บรรทัด ขว้างด้วยแปลงลบกระดาน วิ่งรอบสนาม ให้ล้างส้วม ให้ทำงานหนักอื่น ๆ และที่หนักมากที่สุดคือ
การเฆี่ยนตีหน้าเสาธง หรือหน้าชั้นเรียน เรื่องการลงโทษและถูกทำโทษด้วยวิธีแปลกๆ นี้เมื่อเวลาผ่านไป ได้ถูกนำมาพูดกันอย่างสนุกสนาน ยิ่งถ้าครูคนไหนดุ
หรือทำโทษบ่อยมากๆ ก็จะเป็นที่จดจำของบรรดาลูกศิษย์ ซึ่งอาจเป็นทั้งที่รักและที่เกลียดชังด้วยก็มี การทำโทษด้วยการใช้ไม้เรียวเฆี่ยน ตี
หรือ การทำโทษด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เกิดเป็นความบอบช้ำไม่เฉพาะด้านร่างกายเท่านั้นยังส่งผลต่อด้านจิตใจของนักเรียนและผู้ปกครองอีกด้วย
จึงมีคำถามตามมาว่าครูควร ลงโทษแบบไหน ถึงจะเรียกว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ
ครูควรมีจิตสำนึกของความเป็นครูอันเป็นแนวคิดพื้นฐานที่ครูควรตระหนัก เพราะหากมีการทำโทษด้วยจิตสำนึกดังกล่าว
ถึงแม้ว่าจะออกมาในรูปแบบของการ เฆี่ยนตี แต่ก็ด้วยความมุ่งหมายที่ต้องการให้ผู้เรียนเข็ดหลาบ หรือหลาบจำ
ไม่ต้องการให้มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เช่นนั้นอีก นักเรียนหรือผู้ปกครองอาจจะยอมรับได้ยกเว้นการเฆี่ยนตี
เกินกว่าเหตุใช้อารมณ์โกรธ หรือมีอารมณ์โกรธมาจากเรื่องอื่นแต่มาลงกับนักเรียนก็คงจะ
ไม่เหมาะสม ปัจจุบันจิตสำนึกของครู (บางคน) ขาดหายไปจึงเกิดกรณีเป็นข่าวในเรื่องการทำโทษนักเรียนหรือ
นักศึกษาจนเกินกว่าเหตุ และเมื่อพิจารณาแล้วการทำโทษในบางครั้งแทบจะไม่มีเยื่อใยความผูกพันระหว่าง
ความเป็นครูกับศิษย์ให้เห็นเลย ฉะนั้น จึงเป็นปัญหาตามมา และทำให้มีการร้องเรียนครูถึงกับต้องถูกลงโทษ
ทางวินัย หรือให้ย้ายครูคนนั้นออกจากโรงเรียนก็มี ลงโทษนักเรียนอย่างไรจึงจะไม่ถูกผู้ปกครองฟ้องร้องความผิด
การลงโทษนักเรียนนักศึกษาที่จะพ้นผิดหรือจะไม่ถูกผู้ปกครองฟ้องร้องความผิด ครูต้องลงโทษ
ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนนักศึกษา
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548
ได้กำหนดวิธีการลงโทษไว้ซึ่งจะนำมากล่าวถึงในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญดังนี้ ข้อ 4. …“การลงโทษ” หมายความว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด
โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน
ข้อ 5 โทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด มี 4 สถาน ดังนี้
1. ว่ากล่าวตักเตือน
2. ทำทัณฑ์บน
3. ตัดคะแนนความประพฤติ
4. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ข้อ 6 ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ
หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบ
การลงโทษด้วย
การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษา
ให้รู้สำนึกในความผิดและกลับมาประพฤติตนตนในทางที่ดีต่อไป ให้ผู้บริหารโรงเรียน หรือผู้ที่ผู้บริหารโรงเรียนมอบหมาย
เป็นผู้มีอำนาจในการลงโทษ นักเรียนนักศึกษา
ข้อ 7. การว่ากล่าวตักเตือน ใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษากระทำความผิดไม่ร้ายแรง
ข้อ 8. การทำทัณฑ์บน ใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพนักเรียนหรือนักศึกษา
ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา หรือกรณีทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของสถานศึกษา
หรือฝ่าฝืนระเบียบของสถานศึกษา หรือได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือนแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ
การทำทัณฑ์บน ให้ทำเป็นหนังสือ และเชิญบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บน ไว้ด้วย ข้อ 9. การตัดคะแนนความประพฤติ ให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาของแต่ละสถานศึกษากำหนด
และให้ทำบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน ข้อ 10 การทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ในกรณีที่นักเรียนและนักศึกษากระทำความผิดที่สมควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ซึ่งก่อนหน้าปี 2542 กระทรวงศึกษาธิการมีระเบียบลงโทษนักเรียน
ที่อนุญาตให้ครูใช้ไม้เรียวตีนักเรียนได้
หลังจากปี 2542 มีระเบียบลงโทษนักเรียน ห้ามลงโทษนักเรียนโดยการตี และล่าสุดจากระเบียบข้างต้นโดยปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
ว่าด้วย เรื่องการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 กำหนดบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน
ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรม เท่านั้น นั่นหมายความว่าครูไม่ควรลงโทษนักเรียนและนักศึกษา ด้วยวิธีการอื่นๆ
นอกเหนือจาก 4 มาตรการนี้ การลงโทษนักเรียนและนักศึกษาที่เหมาะสม
การลงโทษควรเป็นวิธีการสุดท้ายสำหรับครู/อาจารย์ที่จะพึงกระทำต่อผู้เรียน และการทำโทษต้องอยู่บนเจตนาของความต้องการ
แก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น การทำการบ้านผิด ตอบคำถามผิด หรือมีการเรียนที่ล่าช้า ไม่สมควรได้รับการลงโทษด้วยวิธีการที่รุนแรงมาก
อาจารย์หลายท่านได้แสนอความเห็นไว้ว่าในอดีตการทำการบ้านผิด ตอบคำถามผิด หรือการเรียนที่ล่าช้า จะถูกทำโทษจากครู/อาจารย์
อย่างรุนแรงด้วยการเฆี่ยน ตี หรือทำร้ายร่างกายด้วยวิธีการต่าง ๆ
การลงโทษที่เหมาะสมในยุคปัจจุบันจึงควรละเว้นการทำร้ายร่างการและจิตใจ วิธีการต่าง ๆ
ที่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายอย่างสิ้นเชิง ความผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากกระบวนการเรียนการสอนนั้น
ต้องได้รับการแก้ไขด้วยกระบวนการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม
ถ้านักเรียนหรือนักศึกษาทำความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนและสมควรต้องได้รับการลงโทษ
ครู/อาจารย์ควรหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการแก้ไขพฤติกรรมด้วยการทำร้าย ร่างกายหรือจิตใจ ด้วยประการทั้งปวง
เช่น การลงโทษด้วยการเฆี่ยน ตี หรือด่าว่าด้วยถ้อยคำที่กระทบความรู้สึกอย่างรุนแรง ครู/อาจารย์ควรให้ผู้ที่
มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงดำเนินการจะดีกว่า เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจากหน่วยงานที่
รับผิดชอบในการแก้ไขความประพฤติของ เยาวชน หรือคนในสังคม ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ
และมีความชำนาญในกระบวนการและวิธีการลงโทษตามลักษณะของพฤติกรรมที่ควรได้รับ
การลงโทษ เพราะครู/อาจารย์ไม่ได้รับการฝึกอบรมหรือได้รับการสั่งสอน มาให้เป็นผู้พิจารณาโทษและลงโทษผู้เรียนอย่างเป็นระบบ
การตัดสินลงโทษของครูจึงมีความผิดพลาดได้ง่าย เพราะครูมักจะใช้อารมณ์ และความรู้สึกของตนเองตัดสินเป็นสำคัญ
ยิ่งถ้าครูเป็นผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนกับการการทำผิดของผู้เรียนด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ความเป็นธรรมและความชอบธรรมลดลงมาก
ครูควรหมดหน้าที่ลงโทษผู้เรียนด้วยการทำร้ายร่างกายและจิตใจของผู้เรียนอีกต่อไป สรุป
การลงโทษนักเรียน ก็เพื่ออบรมสั่งสอนหรือเพื่อให้นักเรียนที่ถูกครูลงโทษเข็ดหลาบ
ไม่ทำพฤติกรรมเช่นนั้นอีกต่อไป มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ถูกต้องดีงามตามที่สังคมกำหนด
เป็นความจำเป็นในการสร้างคนให้มีคุณภาพ ครูควรจะลงโทษตามแนวทางระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียนที่ได้ปรับปรุงแก้ไข
ฉบับปัจจุบัน ปี 2548 โดยโทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด มี 4 สถาน คือว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน
ตัดคะแนนความประพฤติ ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง
หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา
และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความ
ประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับมาประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป
ให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือผู้ที่ผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้อำนวยการสถานศึกษามอบหมาย
เป็นผู้มีอำนาจในการลงโทษนักเรียน นักศึกษา การว่ากล่าวตักเตือน ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษากระทำความผิดไม่ร้ายแรง
การทำทัณฑ์บนใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพ นักเรียนหรือนักศึกษา
ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา หรือกรณีทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของสถานศึกษา
หรือฝ่าฝืนระเบียบของสถานศึกษา หรือได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือนแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ
การทำทัณฑ์บนให้ทำเป็นหนังสือและเชิญบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บน
ไว้ด้วย การตัดคะแนนความประพฤติ ให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาของแต่ละสถานศึกษากำหนด
และให้ทำบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน ส่วนการทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ในกรณีที่นักเรียนและนักศึกษากระทำความผิดที่สมควรต้องปรับเปลี่ยน พฤติกรรม การจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ก่อนปี 2542 กระทรวงศึกษาธิการมีระเบียบลงโทษนักเรียน ที่อนุญาตให้ครูใช้ไม้เรียวเฆี่ยนตีนักเรียนได้ (ไม่เกิน 6 ที ที่ก้น) หลังจากปี 2542 เป็นต้นมา ได้มีระเบียบลงโทษนักเรียน ห้ามลงโทษนักเรียนโดยการตี และล่าสุดจากระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 กำหนดบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมเท่านั้น นั่นหมายความว่าครูไม่ควรลงโทษนักเรียนและนักศึกษา ด้วยวิธีการอื่นๆ นอกเหนือจาก 4 มาตรการนี้ เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะได้รับโทษหรือถูกฟ่องร้องกรณีลงโทษไม่ถูกระเบียบได้ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับโรงเรียนและผู้ปกครองว่าจะสร้างความเข้าอกเข้าใจกันได้เพียงไร จึงจะหาทางออกที่ดีงามได้ แต่ถ้าการลงโทษที่กระทำโดยยึดตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่แก้ไขเป็นปัจจุบันก็จะทำให้ผู้ปกครอง ไม่สามารถฟ้องร้องความผิดกับครูได้ หรือกรณีได้สร้างความเข้าใจอันดีงามระหว่างนักเรียนและผู้ปกครองแล้ว ผู้ปกครองอาจจะไม่ฟ้องร้องเอาผิดกับผู้บริหารและครูได้เพราะลงโทษด้วยเมตตาจิตหวังความดีงามของนักเรียนเป็นที่ตั้ง และการลงโทษที่ไม่เกินเหตุไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของนักเรียน หรือนักศึกษา……….. แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
—————- https://goo.gl/h2r4VD
https://goo.gl/xDm7nt
https://goo.gl/x76Ctc
https://goo.gl/4WYGNw
https://goo.gl/eESPog
https://goo.gl/h2r4VD