สพฐ. ติดตามเข้ม “ปากน้ำโพ” โชว์ Active Learning เฟส 2 ทั้งพื้นที่

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ลงพื้นที่ติดตาม Active Learning เฟส 2 และเป็นประธานในพิธีปิดและบรรยายพิเศษ “การจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” พร้อมทั้งชมนิทรรศการของสถานศึกษา สังกัด สพม.นครสวรรค์ ในหัวข้อ “Active Learning Symposium การเตรียมผู้เรียนให้มีทักษะสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” โดยมี ผอ. และรอง ผอ.สพม.นครสวรรค์ ผอ.สพป. นครสวรรค์ เขต 1 และเขต 3 รอง ผอ.สพป.นครสวรรค์ เขต 2 ผอ.กลุ่มฯ ศึกษานิเทศก์ รวมถึง ผอ. รอง ผอ. และครูหัวหน้าฝ่ายวิชาการ จาก 37 โรงเรียนในสังกัด สพม.นครสวรรค์ จำนวนกว่า 270 คน และครูผู้ช่วย จำนวนกว่า 240 คน ของ สพป.นครสวรรค์ เขต 2 เข้าร่วม ณ โรงแรม 42C เดอะชิค โฮเทล จ.นครสวรรค์

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายของ สพฐ. 10 ข้อ ตามที่เลขาธิการ กพฐ. นายอัมพร พินะสา ได้มอบให้ขับเคลื่อนทุกพื้นที่ซึ่งมีจุดเน้นเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น Active Learning เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง ที่ส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพทั้งประเทศนั้น ซึ่งทาง สพม.นครสวรรค์ ได้มีการขับเคลื่อนและพัฒนาครูได้ครบ 100 % และลงถึงห้องเรียนแล้ว ในวันนี้จึงเป็นการนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบของ Symposium จาก 37 โรงเรียน ซึ่งได้มีการคัดเลือก Best Practice 14 โรงเรียน รวมถึงครูแกนนำ อีก 75 คน ทำให้เห็นถึงศักยภาพการขับเคลื่อนทั้งเขตพื้นที่ และทั้งระดับสถานศึกษา รวมถึงมีแกนนำหลักในการขยายผลและต่อยอดอย่างเป็นระบบ ขณะที่ในส่วนของ สพป.นครสวรรค์ เขต 2 ก็ได้มีการดำเนินการพัฒนาและขับเคลื่อน 100% เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน ถือเป็นการสร้างรากฐานที่เข้มแข็ง ติดอาวุธให้กับครูผู้ช่วยรุ่นใหม่ สู่ความเป็นครูมืออาชีพ กว่า 240 คน ในการที่จะเป็นครูคุณภาพ และมีพื้นฐานการคิด มีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นครู จึงได้เน้นย้ำบทบาทหน้าที่ครู ตามพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 และบทบาทตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แล้วเติมเต็มคุณภาพการจัดการเรียนรู้ด้วยคีย์เวิร์ด 3 คำ คือ สมรรถนะ Active Learning และทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจากการพัฒนาในครั้งนี้ก็จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ครูที่ดี และเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนานักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ

“ทั้งนี้ ต้องขอเน้นย้ำว่าในทุกจุดของการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของคุณครูทุกคน เพื่อจะให้ไปถึงผู้เรียนแบบครบมิตินั้น ผู้บริหารต้องมีหน้าที่สร้างการขับเคลื่อน หนุนเสริม เติมต่อ เป็นผู้นำพาทำ สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้เพื่อให้มีผลเป็นรูปธรรมเกิดกับนักเรียน โดยเน้นเป้าหมายที่ต้องการให้เกิด 3 ด้าน ตามหลักสูตรแกนกลางฯ คือ มาตรฐานตัวชี้วัด ลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ และสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน 5 ด้าน รวมถึงการให้ความสำคัญกับการดูแลและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่างๆ ของเด็กนักเรียนอย่างใกล้ชิด ผ่านระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เข้มแข็ง อีกทั้งยังต้องส่งเสริมให้นักเรียนได้เห็นคุณค่าของความเป็นไทยผ่านประวัติศาสตร์ชาติไทย และให้ทุกคนภูมิใจว่า เด็กไทยของเราไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยร่วมเป็นกำลังสำคัญในการบอกต่อสิ่งดีๆ ให้กับทุกคนได้รับรู้ว่า การศึกษาไทยไม่ได้ล้มเหลว และยังมีความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับพื้นที่ ซึ่งเห็นได้จาก สพม.นครสวรรค์ และ สพป.นครสวรรค์ เขต 2 ในครั้งนี้” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว