สพฐ. จับมือ มรภ.สส. ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ด้วยการพลิกโฉมโรงเรียนต้นแบบสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps

วันที่ 19 กันยายน 2565 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด และมอบนโยบายการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ด้วยการพลิกโฉมโรงเรียนต้นแบบสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมทั้งคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับงานนี้มีโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพมหานครเข้าร่วมประชุมจำนวน 26 โรงเรียน มีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู และนวัตกรรมนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกมากกว่า 500 รายการ การดำเนินงานครั้งนี้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ที่ได้กำหนดกิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในปัจจุบันไปสู่การเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ภายใต้หลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum)  ด้วยการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพรวมทั้งส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาชีพของผู้บริหาร ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา สำหรับพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร เป็นการตอกย้ำนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ว่าสามารถขับเคลื่อนให้เกิดผลได้จริงในระดับโรงเรียน โดยสะท้อนความสำเร็จเป็นความหวังให้เห็นได้ว่าจะสามารถดำเนินการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบให้พัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ให้กับครูได้แล้ว 2 ภูมิภาคในปีนี้ และมีศักยภาพที่จะการขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศภายในปีงบประมาณ 2566 ให้นำไปสู่การยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้มีความถนัดและความฉลาดที่แตกต่างกัน ผู้เรียนสามารถถักทอสร้างความรู้ได้เองจนถึงระดับหลักการ และเกิดสมรรถนะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทุกด้าน รวมทั้งนำหลักการต่างๆ ไปใช้เกิดผลลัพธ์เป็นผลผลิต เช่น ชิ้นงาน โครงงาน นวัตกรรม จนส่งผลให้ผู้เรียนทุกคนสามารถพัฒนาเป็นนวัตกรได้ ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้

ในการนี้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบโล่และเกียรติบัตรให้กับครูและนักเรียนที่ร่วมประกวดนวัตกรรมดีเยี่ยม ดีเด่น ดีมาก ตามโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งกล่าวว่า นับเป็นการดำเนินการที่บ่งชี้ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในยุค “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาลนี้เป็นอย่างดี เป็นการเตรียมเมล็ดพันธุ์ใหม่ด้วยการบ่มเพาะคนไทยให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21” หลักฐานข้อมูลต่าง ๆ จากนิทรรศการผลการดำเนินโครงการสามารถชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างชัดเจน เป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมยุคใหม่ที่เป็นยุคของการพัฒนาด้วยการสร้างความมั่งคั่งผ่านกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงจาก “ประเทศกำลังพัฒนา” ไปสู่ “ประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2575” ให้เป็นรูปธรรม

“ประเด็นความสำเร็จที่ท้าทายข้างต้นต้องนำมาขยายผล โดย “การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้” ให้ทั่วถึงทุกโรงเรียนในระบบการศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องนำรูปแบบโครงการความร่วมมือ “พัฒนานวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมผู้เรียน” ไปสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนงานให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจและเกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังที่สอดคล้องตรงกันสู่ความสำเร็จอย่างราบรื่น รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนครูและผู้เรียนเป็นนวัตกรทางการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ได้เช่นนี้ แสดงถึงความสำเร็จของโครงการที่มีต่อการพัฒนาสมรรถนะครูและผู้เรียนนับเป็นการพลิกโฉมประเทศด้านการพัฒนาการศึกษาของชาติตามแนวคิด Thailand 4.0 ที่จะทำให้คนไทยมีการสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาตินำสู่การขับเคลื่อนประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ในที่สุด จึงนับเป็นโครงการที่ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เป็นแบบอย่างของการดำเนินการโครงการความร่วมมือทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี

“กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงมีความมุ่งมั่นที่จะใช้โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกโฉมประเทศด้านการศึกษา ด้วยการขยายการดำเนินงานตามแนวทางความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มรภ.สส.) ให้กว้างขวางเกิดผลอย่างแท้จริงต่อไป โดย สพฐ. ต้องเร่งพัฒนาโรงเรียนต้นแบบประจำจังหวัดให้ครบทุกจังหวัดให้แล้วเสร็จภายในปีการศึกษา 2566 และตั้งความหวังไว้ว่าผลสำเร็จของการดำเนินงานตามแนวทางที่กล่าวถึงนี้จะยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาสังคมของประเทศให้เป็นสังคมฐานความรู้ ที่นำไปสู่การพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่ระดับมาตรฐานสากลที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำของโลกต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว