วันที่ 20 กันยายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาร่วมพัฒนาการนิเทศการศึกษา และผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศฯ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศฯ 245 เขต และเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาฯ รวมทั้งสิ้น 509 คน
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาลงสู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้นโยบายจากส่วนกลางมีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ผ่านการจัดกิจกรรม Active Learning สู่การสร้างสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้น นอกจากให้นักเรียนได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติในทุกชั่วโมง ทุกคาบแล้ว การที่ให้นักเรียนได้เผชิญกับสถานการณ์จริง จะทำให้นักเรียนได้มีการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ ที่สำคัญคือการทำให้บรรลุเป้าหมายของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 คือ มาตรฐานตัวชี้วัด สมรรถนะสำคัญ 5 ประการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ข้อ ผ่านกระบวนการ Active Learning ที่ต้องเน้นย้ำให้เกิดในโรงเรียน ลดทอนเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนและลดภาระชิ้นงาน โดยไม่ยึดติดตำราเพื่อให้นักเรียนได้มีเวลาในการสร้างสรรค์ที่เกิดจากการต่อยอดการเรียนรู้ ที่ผ่านการฝึกคิดอย่างเป็นระบบและคิดอย่างอัตโนมัติ ส่งให้นักเรียนถึงสมรรถนะ
ที่สำคัญการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ โดยใช้แหล่งเรียนรู้และทรัพยากรที่อยู่ใกล้โรงเรียน ทั้งในชุมชน ท้องถิ่น หรือแม้แต่ในสถานศึกษา เป็นการบ่มเพาะทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่จำเป็นในการเรียนรู้ผ่านปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้รู้ ที่ถือว่าเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มีอยู่ในตัวตนและเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าของชุมชนไทย อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง ที่ให้เห็นความสำคัญของพลังแห่งคุณค่า Soft Power ของไทยที่มีอยู่ทุกที่ หลอมเข้ากับความรักชาติ และความภาคภูมิใจในบ้านของเราที่มีดีไม่แพ้ชาติใดในโลก จะช่วยเสริมสร้างสมรรถนะให้กับนักเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเผชิญกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ผันผวนสูงในอนาคต และก้าวสู่ความเป็นไทยในสากลโลกอย่างสง่างาม
“จะเห็นได้ว่า ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารสถานศึกษา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติ จะต้องเป็นผู้นำในการพาทำให้เกิดขึ้นได้จริงในโรงเรียน เปลี่ยนแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าในชุมชนใกล้ๆ กับโรงเรียน ให้เป็นห้องเรียน ด้วยการบูรณาการจากหลักสูตรสถานศึกษา ที่สามารถเรียนแล้วตัดตัวชี้วัดในรายวิชา และกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้นได้ ทำให้เกิดคุณค่าจากการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาและการขับเคลื่อนเพื่อให้ถึงการปฏิบัติเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าเปรียบเสมือนห้องเรียนในโรงเรียน ซึ่งผู้บริหารและครูต้องร่วมกันรับผิดชอบในการสร้างผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่สำคัญของประเทศชาติ เราจะสร้างเด็กดี เก่ง รักความเป็นไทยไปด้วยกันทั้งประเทศ ร่วมกันขับเคลื่อนคุณภาพผู้เรียน นอกจากนี้ยังเป็น 10 นโยบายสำคัญเร่งด่วน สพฐ. Quick policy 2565 อีกด้วย” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ด้านนายประสิทธิชัย หมดทุกข์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยลึก สพป.กาญจนบุรี เขต 2 กล่าวเสริมอีกว่า จากการประชุมครั้งนี้ทำให้มีความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพผู้เรียนตามเป้าหมายของหลักสูตรชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถทำได้ เกิดคุณภาพกับเด็ก และไม่สร้างภาระในการทำงานให้กับครูอย่างแน่นอน
- รมว.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจราชการออกเยี่ยมโรงเรียน และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ในพื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี - 8 ตุลาคม 2024
- สพฐ. ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และกรอบเนื้อหาแบบเรียนภาษาจีน สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. - 7 ตุลาคม 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสภาพอาคารเรียนภายหลังน้ำลด ณ โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน มิตรภาพที่ 169 จังหวัดเชียงราย - 6 ตุลาคม 2024