“ตรีนุช” มั่นใจโรงเรียนบนรอยเลื่อนสอนเด็กรับมือภัยพิบัติ

วันที่ 20 ตุลาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. และคณะทำงาน ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ณ โรงเรียนไตรประชาวิทยา อ.ปัว จ.น่าน ซึ่งอยู่บนรอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนเปลือกโลกที่ยังมีพลังในประเทศไทย

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมวันนี้ พบว่า โรงเรียนไตรประชาวิทยา ซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงชั้น ป.6 นักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชนพื้นเมืองไทลื้อ และชนพื้นเมืองเผ่าม้ง ถึงแม้นักเรียนจะเป็นเด็กแต่ก็ได้เรียนรู้เรื่องการทำโครงงาน หรือ Project ที่เชื่อมโยงมาถึงเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยใช้ Problem–based Learning (PBL) ที่มีรูปแบบการเรียนรู้โดยการนำปัญหามาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ซึ่งผลที่ได้สามารถนำมาพัฒนา แก้ปัญหาในชุมชนได้ทุกมิติทั้งเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม อาชีพ และปัญหาปากท้อง

โดยโรงเรียนได้พานักเรียนไปเรียนรู้ในชุมชน นำประเด็นที่ใกล้ตัวและนักเรียนสนใจมาทำโครงงาน โดยพาเด็กลงพื้นที่วิเคราะห์ปัญหาในชุมชน สืบค้นวิธีแก้ปัญหา ใช้ทั้งศาสตร์ภูมิปัญญา ศาสตร์พระราชา ศาสตร์สากลมาใช้ในการแก้ปัญหา เช่น เรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม เมื่อโรงเรียนอยู่บนพื้นที่รอยเลื่อนเปลือกโลก มีแผ่นดินไหว น้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินสไลด์ ทางโรงเรียนจึงได้สอนเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม รู้จักหิน เส้นทางน้ำ นักเรียนรู้ว่าโรงเรียน และหมู่บ้านตั้งอยู่บนความเสี่ยง นักเรียนสามารถทำโปรแกรมส่งสัญญาณเตือนภัย รู้วิธีสังเกตสิ่งรอบตัวโดยที่โรงเรียนและทุกหมู่บ้านจะปลูกต้นไมยราบ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวต้องอยู่ในที่โล่ง และรู้วิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุ เป็นต้น ส่วนเรื่องอาชีพและปัญหาปากท้อง ก็ทำโปรเจกต์แหล่งท่องเที่ยว การเกษตร ไปเรียนรู้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านผ้าในชุมชน ดูภูมิปัญญาผ้าลายน้ำไหลของน่าน ซึ่งจะนำไปสู่ soft power ถือเป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาผู้เรียน สู่การเป็นฮีโร่ พาตนเองรอด พาชุมชนรอดอย่างยั่งยืน

“ทั้งนี้ ในส่วนของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงานว่าขณะนี้ยังไม่มีโรงเรียนใดในสังกัด ศธ. ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเหตุแผ่นดินไหว โดยขณะนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนจึงไม่มีผลกระทบกับการจัดการเรียนการสอนของนักเรียน รวมถึงอาคารเรียนต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับความเสียหายเช่นกัน” รมว.ศธ. กล่าว