สพฐ. ร่วมกับโครงการส่วนพระองค์ฯ และ ตชด. ภาค 1 จัดอบรมเสริมสร้างศักยภาพครู ตชด. ศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่ ด้านการอ่านการเขียนภาษาไทย

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการจัดการเรียนการสอนด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทย (รุ่นที่ 2 ภาคกลาง) ให้แก่ครูผู้สอนภาษาไทยของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 สังกัดกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 นายตำรวจนิเทศก์ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11-14 และศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานภาษาไทย ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในภาคกลาง เขตละ 1 คน รวมทั้งสิ้น 208 คน โดยมี นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา พันตำรวจเอก พรหมวุฒิ วุฒิวิวัฒน์ชัย รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 และผู้แทนโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นายณรัญจ์ โกศลเวช หัวหน้าฝ่ายโครงการพระราชดำริพื้นที่ภาคใต้ และคณะทำงานจากสถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. เข้าร่วมในพิธี ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่แสดงถึงเอกลักษณ์ประจำชาติ ที่ใช้ในการสื่อสารและเรียนรู้ สืบทอดสาระเรื่องราวและมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร การส่งผ่านความรู้ความเข้าใจ อารมณ์ความรู้สึก และความคิด เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ และแลกเปลี่ยนระหว่างประชากรในสังคม ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน นอกจากนี้ ยังแสดงถึงอัตลักษณ์และเป็นการสืบสานภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณีให้คงอยู่สืบไป จึงต้องมีการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนในชาติมีความตระหนักในคุณค่าและรักษ์ภาษาไทย การพัฒนาการอ่านการเขียนตั้งแต่เด็กวัยเยาว์ให้มีความพร้อม เพื่อจะเรียนรู้ในสาขาวิชาอื่น ๆ โดยการวางรากฐานการฝึกทักษะภาษาไทยและให้เด็กและเยาวชนเกิดนิสัยรักการอ่าน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันได้ รู้เท่าทันตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและกระแสโลกาภิวัตน์

อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่มุ่งการปฏิบัติเพื่อยกระดับการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ได้กำหนดให้มีการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้เพื่อเตรียมประชากรสู่การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย มีเป้าหมายให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีทักษะที่จำเป็นของโลกอนาคต สามารถแก้ปัญหา รู้เท่าทันสื่อ ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมทั้งเป็นพลเมืองดี รู้สิทธิหน้าที่ มีความรับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะ ซึ่งการสร้างทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะทักษะการสื่อสาร คือ “การอ่านออกเขียนได้” เป็นทักษะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์ จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาความรู้ กระบวนการคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาตนเองและสังคม

“การอบรมในครั้งนี้ นับเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง โครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีเป้าหมายสำคัญร่วมกัน คือ การช่วยให้ครูผู้สอนภาษาไทยของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ชั้น ป.1-2 และศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานภาษาไทยของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระความรู้ภาษาไทยเชิงลึก เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักเรียนให้อ่านออกเขียนได้อย่างเหมาะสมแก่บริบทในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทุกคนล้วนเป็นบุคคลสำคัญยิ่งในการพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ความสามารถในด้านภาษาไทย สพฐ. มุ่งหวังว่า หากทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการพัฒนางานภาษาไทย โดยเฉพาะการอ่านและการเขียนภาษาไทยซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้ ก็จะนำไปสู่การพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น มีสมรรถนะที่พร้อมกับโลกในยุคศตวรรษที่ 21” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ การจัดอบรมฯ ดังกล่าว แบ่งเป็น 4 รุ่น ใน 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย รุ่นที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี รุ่นที่ 2 ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 3 ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมบรรจงบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และรุ่นที่ 4 ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับการจัดอบรมฯ ครั้งนี้เป็นการอบรมรุ่นที่ 2 มีผู้เข้าร่วมอบรม ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ คณะวิทยากร และคณะทำงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 208 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระความรู้ภาษาไทยเชิงลึกและการนำสู่การจัดการเรียนการสอนให้กับครูผู้สอนภาษาไทยในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานภาษาไทยของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งการอบรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้จากการอบรมไปปรับใช้ในการพัฒนานักเรียนให้อ่านออกเขียนได้อย่างเหมาะสมแก่บริบทในชั้นเรียนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น