สพฐ. พร้อมโชว์โรงเรียนอนุบาลเทพสุนทรินทร์ สร้างเด็กดี เก่ง อย่างมีความสุข

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาของโรงเรียนอนุบาลเทพสุนทรินทร์ สพป.แพร่ เขต 1 โดยมี ผอ.สพป.แพร่ เขต 1 รอง ผอ.เขต คณะผู้บริหาร ครูและบุคลากรโรงเรียนอนุบาลเทพสุนทรินทร์ รับการตรวจเยี่ยม และมี ผอ.สพม.อุดรธานี รวมถึง ผอ.รร. ต่าง ๆ และคณะทำงาน เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมในวันนี้ พบว่า โรงเรียนอนุบาลเทพสุนทรินทร์ เป็นโรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอที่มีความโดดเด่นในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการ หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนตามเป้าหมายหลักสูตรแกนกลางฯ ทั้งมาตรฐานตัวชี้วัด สมรรถนะและมีคุณลักษณะของนักเรียนที่ดี เก่งอย่างมีความสุข สามารถจูงใจให้ชุมชนส่งลูกหลานเข้ามาเรียนที่โรงเรียนนี้แทนการส่งไปเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่นับได้ว่าเป็นโรงเรียนใกล้บ้านที่ดีที่สุด ซึ่งหัวใจสำคัญของความสำเร็จนี้คือ “ความสุขของนักเรียน”

นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในด้านบริหารจัดการด้วยโมเดล SARI+M เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนอย่างรอบด้าน (School Quality) ส่งเสริม Active learning การทำวิจัยหน้าเดียว (Research) การใช้ ICT และการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ส่งผลให้เด็กมีกิริยามารยาทที่น่ารัก สมวัย กล้าแสดงออกอย่างมีกาลเทศะ อ่อนน้อม ไหว้และทักผู้ใหญ่อย่างเป็นวัฒนธรรม อีกทั้งยังขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพ เห็นได้จากนักเรียนมีผลการสอบ O-NET มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศในทุกรายวิชา และนักเรียนมีศักยภาพในการแข่งขันทางวิชาการได้รับรางวัลต่าง ๆ จากการแข่งขันมากมาย นักเรียนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส สามารถสนทนาโต้ตอบกับครูผู้สอนและผู้อื่นได้เป็นอย่างดี สมวัย มีมารยาท มีความนอบน้อม กล้าแสดงความคิดเห็นหรือโต้แย้งได้อย่างมีเหตุผล แสดงให้เห็นได้เชิงประจักษ์ว่า เป็นโรงเรียนที่น่าชื่นชมจัดเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพในทุกองค์ประกอบ ผอ. รร. เป็นผู้นำที่ดี สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ครูรวมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ชุมชน ผู้ปกครองเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาความสามารถหลากหลายด้านของนักเรียน จนเกิดความเป็นเลิศในโรงเรียนนี้ ผอ.เขต พื้นที่ ส่งเสริม สนับสนุน สร้างเวที แรงบันดาลใจให้ร่วมกันพัฒนา ทั้งหมดจึงเหมือนเป็นองค์ประกอบร่วมกัน ที่ทำให้เกิดความชัดเจนในคุณภาพที่นักเรียนครบทั้งด้านความรู้ สมรรถนะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเป้าหมายหลักสูตรชาติ และยังเป็นไปตามนโยบายของท่าน เลขาธิการ กพฐ. ( นายอัมพร พินะสา) วิชาการ + 1 ศิลปะ 1 กีฬา 1 ดนตรี 1 อาชีพ

ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายและจุดเน้นของ ศธ. และ สพฐ. อย่างจริงจัง มีความใส่ใจในรายละเอียดเป็นไปตาม KPI ที่เลขาธิการ กพฐ.และทำหน้าที่ในการช่วยส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการบริหาร นวัตกรรมการสอน สนับสนุนและกำกับติดตามโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ ทันเวลา มีเทคนิคในการสร้างขวัญกำลังใจ และรู้จักข้อมูลเชิงลึกของโรงเรียนผ่านการลงพื้นที่ นับว่าเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 1 เป็นต้นแบบของเขตพื้นที่การศึกษาได้เป็นอย่างดี

ทางด้านผู้บริหารโรงเรียนมีความโดดเด่นในการนำองค์กร มีทักษะในการรับฟังอย่างตั้งใจและนำสู่การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของการมีความสุข มีความสามารถในการสานสัมพันธ์กับชุมชน เป็นที่รักของชุมชม ตลอดจนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เห็นได้จากการจัดกิจกรรม “ครูชวนปั่น” ที่ได้เชิญชวนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมกับโรงเรียน ทำให้โรงเรียนได้รับความยอมรับ และการสนับสนุน ตลอดจนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนได้ พร้อมทั้งมีครูดี ครูเก่ง ครูขยัน ครูมีความสุข มีบุคลิกภาพที่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ และสามารถกระตุ้นจูงใจให้นักเรียนรักในการเรียนรู้ ครูมีความสามารถในการบูรณาการเรียนรู้ข้ามกลุ่มสาระฯ อาทิ การบูรณาการวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กับพลศึกษา ผ่านกิจกรรมการออกแบบวิธีการออกกำลังกายโดยใช้ยางรถยนต์เป็นอุปกรณ์ ครูยังมีความเป็นนักวิชาการสามารถพัฒนานวัตกรรมการสอนได้หลากหลายและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยครูสามารถวิเคราะห์ปัญหาจากการเรียนการสอนร่วมกับการวิเคราะห์บริบท แล้วออกแบบนวัตกรรม พัฒนาวิธีการ ทดลองใช้ ประเมินผลอย่างเป็นระบบ และมีการขยายผล เผยแพร่ผลงานในรูปแบบของวิจัยในชั้นเรียนหน้าเดียว ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้จากการทำ PLC มีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากครูรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร อีกทั้งผู้บริหารและคุณครู รู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล และมีกระบวนการคัดแยกนักเรียนตามความถนัดและความสนใจ พร้อมพัฒนาต่อยอด เติมเต็ม จนนักเรียนมีความเป็นเลิศในระดับที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับชาติ

ด้านนักเรียนก็ได้รับการพัฒนาในทุกมิติคุณภาพ ทั้งด้านวิชาการ กีฬา ดนตรี ศิลปะ ตลอดจนการพัฒนากระบวนการคิดและทักษะชีวิตผ่านการปฏิบัติกิจกรรม อาทิ กิจกรรมระดมสมองเพื่อออกแบบฐานออกกำลังกายโดยใช้ยางรถยนต์ กิจกรรมแผนที่ประวัติศาสตร์ “ถิ่นรักพระลอ” ใช้การศึกษาเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างนักเรียนกับชุมชน เป็นต้น โดยทางด้านกีฬา นักเรียนได้รับรางวัลในระดับประเทศจากการแข่งยิงธนู ซึ่งโรงเรียนได้สนับสนุนส่งเสริมให้ใช้กีฬายิงธนูนี้ในการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และกล้ามเนื้อมัดใหญ่ สายตา สมาธิ บุคลิกภาพ และความกล้าในการตัดสินใจ ในส่วนของวงดนตรีโรงเรียนก็ได้รับความอนุเคราะห์จากปราชญ์ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการสอนนักเรียน จนนักเรียนมีความรู้และทักษะ สามารถเล่นดนตรีและขับร้องได้อย่างไพเราะ สร้างความสุขให้แก่ผู้รับชมรับฟังได้ และสามารถเข้าร่วมการแข่งขันในเวทีต่าง ๆ ได้อย่างสมภาคภูมิ ขณะที่สภานักเรียนก็มีความเข้มแข็ง โดดเด่น มีจิตอาสา และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับโรงเรียนอื่นได้ เช่นเดียวกับโครงการอาหารกลางวันนักเรียนก็สามารถดำเนินการได้อย่างมีคุณภาพ นักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน มีปริมาณที่เพียงพอ สามารถเติมอาหารได้ และมีวินัยในการต่อแถวรับอาหาร เก็บภาชนะ นักเรียนทุกคนจะรู้หน้าที่และถืออาหารอย่างระวังเพื่อไปนั่งรับประทานอาหาร และยังมีการส่งเสริมให้นักเรียนแปรงฟันหลังรับประทานอาหารด้วย

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ขอฝาก คือ ในส่วนของกิจกรรมแผนที่ประวัติศาสตร์ “ถิ่นรักพระลอ” ควรมีการจัดกิจกรรมเสริมให้นักเรียนสะท้อนคิดว่า “เด็กได้เรียนรู้อะไร” และคิดต่อยอดความคิดว่านอกเหนือจากสถานการณ์ที่ครูกำหนดให้แล้ว “นักเรียนต้องการรู้อะไรเพิ่มเติม และนักเรียนควรทำอย่างไร” ตลอดจนสามารถถ่ายทอดให้คนรอบข้างฟังได้ ซึ่งอาจเป็นคนในครอบครัวหรือชุมชนก็ได้ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด และบ่มเพาะความรักท้องถิ่นร่วมกับชุมชนด้วย พร้อมทั้งร่วมกันออกแบบกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การรวมหน่วยการเรียนรู้ที่มีความหมายลงสู่นักเรียนให้ถึงการประเมินผลร่วมกัน โดยเน้นให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย และเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่าย โดยอาจอาศัยบริบทของโรงเรียน แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนหรือใกล้โรงเรียน เพื่อเพิ่มความผูกพันในชุมชนเข้ามาด้วย ก็จะสามารถทำให้นักเรียนได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จากการเรียนรู้รอบตัว และในรายวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ครูสามารถใช้การ์ตูน The Diary หรือการ์ตูน ”สัมมาทิฏฐิ จิตตนคร” ในการกระตุ้นให้นักเรียนสนใจที่จะเรียนรู้ และเห็นภาพคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ชาติต้องการได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้นักเรียนได้เห็นบุคลิกภาพของคนที่มีลักษณะโลภ โกรธ หลง ได้อย่างชัดเจนจากตัวละครในการ์ตูน

“สุดท้ายนี้ การใช้ทุกเวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญ กระตุ้นส่งเสริมให้นักเรียนได้ค้นหาสิ่งที่ตนเองสนใจ เปรียบเสมือนกับการค้นหาประตู และกระตุ้นให้นักเรียนได้มองให้เห็นถึงเป้าหมายปลายทางที่ตนเองต้องการ (Product) จากนั้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการองค์ความรู้จากรายวิชาต่าง ๆ โดยใช้แหล่งเรียนรู้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างวิธีการที่แตกต่างจนบรรลุเป้าหมายได้ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ โรงเรียนขนาดเล็กต้องเชื่อมั่นว่า โรงเรียนที่เล็กกว่ามิใช่เป็นความเสียเปรียบในเชิงการจัดการศึกษา แต่เป็นความท้าทายและยังเป็นความได้เปรียบในด้านการโค้ชนักเรียนให้มีประสบการณ์จริง และมีทักษะชีวิตที่เหมาะสมในโลกยุคศตวรรษที่ 21 นี้” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว