สพฐ. พัฒนาศักยภาพด้านการเงิน การบัญชีและพัสดุ สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา สพป.นครราชสีมา

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการเงิน การบัญชีและพัสดุ สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1-7 ผ่านระบบประชุมออนไลน์ Zoom Meeting พร้อมทั้งมอบนโยบายและบรรยายพิเศษให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ในสังกัด สพป.นครราชสีมา เขต 1-7 และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จำนวน 778 คน โดยมีนางนัยนา ตันเจริญ ผอ.สพป.นครราชสีมาเขต 2 กล่าวรายงาน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล โคราช อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า งานการเงิน การบัญชีและพัสดุนั้น มีความสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา หากการใช้จ่ายงบประมาณมีการดำเนินการถูกต้องตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดสรรงบประมาณแล้ว ย่อมส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ และในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2567 นี้ มีการดำเนินการใช้งบประมาณในหลายเรื่อง เช่น งบอุดหนุนการจัดการศึกษา งบดำเนินงาน งบลงทุนที่ดิน สิ่งก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งการจัดการอบรมในวันนี้ สอดคล้องกับการดำเนินนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้แนวทางการทำงาน “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” โดยได้รับเกียรติจาก นางกุลิสราพ์ บุญทัน รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงินและงบประมาณระดับประเทศ มาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำงานของผู้บริหารสถานศึกษาต่อไป

สำหรับการอบรมในครั้งนี้ สพป.นครราชสีมา เขต 2 ร่วมกับ สพป.นครราชสีมา เขต 1 เขต 3 และเขต 5 ดำเนินการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการเงิน การบัญชี และพัสดุ สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษา สามารถนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าต่อภารกิจของรัฐ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 778 คน โดยมีหัวข้อการบรรยายที่น่าสนใจ อาทิ “แนวทางการดำเนินงานโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” “การบริหารจัดการเกี่ยวกับเงินรายได้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา” “แนวทางการดำเนินการโครงการอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนประถมศึกษา” “ข้อพึงระวังในการปฏิบัติงานการเงิน เพื่อป้องกันการกระทำที่เข้าข่ายความผิดทางวินัย” เป็นต้น