สพฐ. จับมือกรมอนามัย ร่วมบูรณาการเคลื่อนประวัติศาสตร์ชาติไทย เน้นให้นักเรียนรอบรู้ ดีและมีความสุข

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำทีม One Team สพฐ. (สวก. สทศ. สบน. สบว. และ ศนฐ.) พร้อมด้วย รองอธิบดีกรมอนามัย นพ.สราวุฒิ บุญสุข ขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ด้วยกิจกรรม “พระองค์ดำในตำนาน” เคลื่อนทัพสู่นพบุรีศรีนครพิงค์ ประกาศกร้าวชาวล้านนา “ฮักจ้าด ฮักแผ่นดิน” ณ โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ โดยผู้เข้าร่วมการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วย นักเรียนโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม 2,000 คน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม 130 คน ครูและนักเรียนค่าย “Young Historians” 116 คน รวมถึงผู้มีเกียรติและบุคลากรจาก สพฐ. และเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งสิ้นกว่า 2,500 คน

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เริ่มต้นด้วยกิจกรรมการเสวนา “ประวัติศาสตร์ล้านนา กับการสร้างเอกลักษณ์ของโรงเรียน: สืบสานพระปณิธานพระราชชายาเจ้าดารารัศมี” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม (นายสำเร็จ ไกรพันธ์) ตัวแทนครู (นายณัฏฐ์ชนนท์ วงศ์เสือ) และตัวแทนนักเรียน (นายรัฐภูมิ นาคีสถิตย์) รวมทั้งรอง ผอ.สวก.(นางสาวจรูญศรี แจบไธสง) จากการเสวนา เรื่องการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ผ่านบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งทางโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม ได้มีการวิเคราะห์และนำต้นแบบการปฏิบัติของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีมาเป็นแนวทางที่เป็นแบบอย่างแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติตน สู่การนำมาเป็นกิจกรรมบูรณาการและจะนำไปสร้างเป็นหลักสูตร ตอบสนองการจัดทำหน่วยการเรียนรู้และกิจกรรมที่บูรณาการการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning สู่นักเรียนได้อย่างดี เช่น การใช้ภาษาอังกฤษ(EIS) ในการเล่าเรื่องราว การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย การแต่งกาย การฟ้อน หรือการปฏิบัติตนเพื่อเข้าสังคมของนักเรียนที่เป็นไปได้ดีตามวิถีปฏิบัติที่ดีงาม เป็นต้น

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การสร้างความตระหนักผ่านเรื่องราวของบุคคลสำคัญ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ดี สร้างการคิดวิเคราะห์ ความเป็นเหตุเป็นผล และสุดท้ายนำไปสู่ความคิดเชิงบวกในความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย และจะต่อยอดสู่การ Create ของนักเรียนที่จะนำเรื่องราวความเป็นไทยสู่สากลด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งเป็นงานหลักของ สพฐ. ที่ต้องบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักสูตรชาติอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำและในบางโรงเรียนก็ดำเนินการได้เป็นอย่างดี เช่น โรงเรียนแม่ริมวิทยาคมเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งสามารถสร้างจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน และมีความเข้มแข็ง โดยได้บรรจุเป็นคุณลักษณะหนึ่งของผู้เรียน “พลเมือง มรว.” สามารถอยู่ได้ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและสร้างอัจฉริยภาพในตนเอง จากคำกล่าวของผู้อำนวยการโรงเรียน แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนแห่งนี้สามารถจัดการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับชุมชน บริบทของท้องถิ่น และความต้องการของสังคมโลก ทั้งนี้จากพระปณิธานพระราชชายาเจ้าดารารัศมีที่สอดคล้องกับความรอบรู้ของผู้เรียนในเรื่องของการส่งเสริมด้านการแพทย์ที่ทันสมัยจนกลายเป็นโรงพยาบาลแพทย์แผนปัจจุบันคือโรงพยาบาลแมคคอมิกส์ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของเชียงใหม่ โรงเรียนแม่ริมวิทยาคมจึงเห็นความสำคัญจึงได้กำหนดเป็นแผนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความสนใจของนักเรียน

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก พันเอก (พิเศษ) วันชนะ สวัสดี รองผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (นักแสดงนำในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวร) บรรยายพิเศษ ผ่านเรื่องราวภาพยนตร์ และคลิปวิดีโอ ด้วยการให้ความรู้ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ สนุกสนาน สลับกับการบรรยายที่พาคิดวิเคราะห์ตาม อย่างมีเหตุผล แยกแยะ และกระตุ้นด้วยคำถามเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้นำไปสู่ความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย เข้าใจในการตัดสินใจ เป็นการคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่ความเป็นพลเมืองที่ดี รวมถึงการมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ผ่านกระบวนการจิตอาสาด้วยการให้ ซึ่งสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้บนพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว และชุมชน

“ทั้งนี้ ยังเน้นในเรื่องการนำเสนอแนวคิดสู่การปฏิบัติในการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ ไม่เน้นในเชิงการสร้างความขัดแย้ง แต่เน้นการสร้างความสามัคคีให้เกิดกับคนในชาติ อีกทั้งการรู้เท่าทันสื่อในปัจจุบัน และสามารถแยกแยะข้อเท็จจริงจากการสื่อสารที่สร้างการบิดเบือนได้ เพื่อเติบโตอย่างมีคุณภาพตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ให้พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ เพื่อให้เด็กและนักเรียนได้เรียนรู้ถึงสถานบันหลักของชาติ การต่อสู้ของบรรพบุรุษ ความสามัคคีของคนไทยในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำการจัดการเรียนรู้ ในยุคของ Gen Z ให้หาวิธีการจัดการเรียนรู้ให้เด็กนักเรียนมีความสนุก ไม่ใช่การเรียนรู้แบบท่องจำ ซึ่งจะเป็นบทบาทหน้าที่ของครูผู้สอน ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียน เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ และทักษะกระบวนการ โดยใช้เทคนิคการจัดการเรียนการสอน ที่หลากหลาย อีกทั้ง เลขาธิการ กพฐ.ได้มอบนโยบายไว้ว่า “อยากให้เด็กไทยเป็นเด็กเก่ง คู่กับการเป็นเด็กดี “ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตรชาติได้ ทั้งดีและเก่ง อย่างมีความสุข ภายใต้ความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว