สพฐ. ยกนิ้ว กาญจนบุรีร่วมใจ บูรณาการท้องถิ่น หลากหลายวิถีประเพณี ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์สู่หน้าที่พลเมืองเยาวชนไทย

วันที่ 30 มกราคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการขับเคลื่อนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ภาคกลางและภาคตะวันออก จ.กาญจนบุรี “ถิ่นวีรชนคนกล้า แหล่งรวมศรัทธาความดี ศรีรัตนโกสินทร์” ณ โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย สพม.กาญจนบุรี สพป.กาญจนบุรี เขต 1-4 และทุกภาคส่วนด้านการศึกษาในจังหวัดกาญจนบุรี พันเอก (พิเศษ) วันชนะ สวัสดี (ผู้พันเบิร์ด) นักแสดงนำในตำนานสมเด็จพระนเรศวร คุณวิชาญ มีสม (จอห์น บราโว่) ดารานักแสดง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฟ้อน เปรมพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักภาษาและคติชนวิทยา อ.สุภา คชวัตร กรรมการมูลนิธิหอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร รวมทั้งนายครรชิต มนูญผล อดีตศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ ผอ.สวก. รอง ผอ.สวก รอง ผอ.สทศ. และทีมจาก สวก. สทศ. ศนฐ. สบว. โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากร และนักเรียน จากโรงเรียนในสังกัด สพม.กาญจนบุรี และ สพป.กาญจนบุรี เขต 1-4 กว่า 2,000 คน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และมีการถ่ายทอดสดผ่าน OBEC CHANNEL ทุกช่องทาง

ในงานนี้มีพิธีถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เพื่อแสดงความเคารพและถวายพระพรชัยมงคลให้พระองค์หายจากพระอาการประชวรโดยเร็ววัน จากนั้น รับชมวิดีทัศน์นโยบายและแนวคิดการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการโดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. และดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช  รมช.ศธ. รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมของการศึกษาขั้นพื้นฐานโดย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.ซึ่งทำให้ผู้ร่วมงานทราบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจนนำสู่การปฏิบัติ

ทางด้านนางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ความตั้งใจในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทยและบ่มเพาะเยาวชนไทยสู่ความเป็นพลเมืองไทย ที่โรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรีนำเสนอครั้งนี้ สร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทยและเห็นคุณค่าในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงบูรณาการแหล่งเรียนรู้ที่เน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และการต่อยอดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โดยการเรียนรู้ประวัติศาสตร์นั้นจะต้องเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย เกิดเป็นคุณค่าให้ชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ชื่นชมจากการได้เห็นเขตพื้นที่ร่วมมือกันขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์อย่างขันแข็ง สร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นจริง  ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การเสวนา ในหัวข้อ “การศึกษาในคุณค่าประวัติศาสตร์ กับความภาคภูมิใจในท้องถิ่น” การแสดงวงดนตรีลูกทุ่งประวัติศาสตร์ จากโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ที่ทำให้ผู้ชมเกิดความภาคภูมิใจในความกล้าหาญและความสามัคคีของบรรพบุรุษ และการแสดงชุด ระบำศรีชยสิงห์โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา ที่มีความอ่อนช้อย งดงาม ที่มีการประดิษฐ์ท่ารำจากภาพฝาผนังในโบราณสถาน กิจกรรมเสวนาเรื่อง “การศึกษาในคุณค่าประวัติศาสตร์ กับความภาคภูมิใจในท้องถิ่น” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ฟ้อน เปรมพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญหลักภาษาและคติชนวิทยา อ.สุภา  คชวัตร กรรมการมูลนิธิหอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร คุณจอห์น บราโว่ ดารานักแสดง และตัวแทนครู นักเรียน เข้าร่วมการเสวนา นอกจากนั้น ยังมีการบรรยายพิเศษ โดย พันเอก (พิเศษ) วันชนะ สวัสดี (ผู้พันเบิร์ด) เพื่อฝึกการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจของเหตุการณ์ต่างๆในอดีต ผ่านภาพยนตร์ โดยมีนักเรียนและครูร่วมฟังบรรยาย กว่า 500 คน อีกทั้งมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ นิทรรศการสงครามเก้าทัพ นิทรรศการผลงานดีเด่นการจัดการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์หรือผลงานดีเด่น Best Practice ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของจังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่งในแต่ละนิทรรศการการนำเสนอได้น่าสนใจ นักเรียนมีความตั้งใจในการเล่าเรื่องท้องถิ่นตนเองจากการได้เรียนรู้ ปฏิบัติจริง ทั้งในแหล่งเรียนรู้ หรือการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตของตน และยังมีการแสดงที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพนักเรียนที่หลากหลายอาทิ การแสดงชุดพระยาศรีสุวรรณรี จากโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา การแสดงชุดแหล่ และรำสงครามเก้าทัพ  การแสดงชุดละครประวัติศาสตร์ จากโรงเรียนวิสุทธรังษี  การแสดงระบำพุทธบูชา โรงเรียนพระแท่นดงรังวิทยาคาร และ การแสดงชุดระบำไก่ตำนานขุนช้างขุนแผน จากโรงเรียนเทพมงคลรังษี เป็นต้น 

นอกจากนี้ ขอชื่นชมความเข้มแข็งของ One Team สพฐ. และทีมวิชาการของรองเลขาธิการ กพฐ. ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้ถึงคุณภาพลงสู่นักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้อยากจะฝากถึงสิ่งที่สำคัญของการขับเคลื่อนครั้งนี้ที่เน้นการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ไม่ใช่แค่เพียงมาตรฐานและตัวชี้วัด แต่คือสมรรถนะสำคัญของนักเรียน นำไปสู่พฤติกรรมของนักเรียน พร้อมบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 8 ประการ ซึ่งทุกหน่วยงานของ สพฐ. ทั้งส่วนกลางและเขตพื้นที่รวมถึงสถานศึกษา ควรทำให้เกิดขึ้นกับนักเรียนทุกคน ผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากใกล้ตัวไปสู่ภาพรวม ให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราวที่เป็นเชิงสร้างสรรค์ และเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข วิถีชุมชนที่แตกต่างบนความหลากหลายที่เป็นพหุวัฒนธรรมที่คงความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละที่และร่วมกันสร้างคุณค่าบนความเป็นไทยอย่างมีคุณภาพ

“ประวัติศาสตร์จะทำให้มองเห็นเรื่องราวหรือสิ่งที่ผ่านมาในอดีต ว่าเราผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ด้วยวิธีการใด และบริบทใด แล้วเหตุใดจึงสำเร็จหรือไม่สำเร็จ สร้างการคิดวิเคราะห์ เข้าใจผู้อื่นในช่วงสถานการณ์นั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์จึงเป็นบทเรียน สอนให้เราก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ควบคู่กับความรักและความภาคภูมิใจในสิ่งต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษของเรามอบไว้ เล่าเรื่องราวให้ลูกหลานของเราได้เรียนรู้และภาคภูมิใจต่อไปอย่างยั่งยืน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว