รมว.ศธ. ติดตามสถานการณ์สารกัมมันตรังสีซีเซียม – 137 ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 93

วันที่ 20 มีนาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี พ.ค.อ.กฤตปนิธิ พุทธศิริ ผกก.สภ.สระบัว พร้อมด้วย ผอ.เขต รอง ผอ.เขต ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและสร้างความรับรู้ความเข้าใจกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม – 137 หลุดจากที่ติดตั้ง ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 93 จ.ปราจีนบุรี

จากกรณีวัสดุสารกัมมันตรังสีซีเซียม – 137 ได้หายไปจาก บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ ตั้งอยู่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เบื้องต้นทราบว่าวัสดุดังกล่าวหลุดจากที่ติดตั้งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ทราบเรื่องเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566  โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้รับแจ้งเหตุกรณีวัสดุกัมมันตรังสีสูญหาย  มีขนาดกว้าง 12.7 ซม. ยาว 20 ซม. หนัก 25 กก นั้น 

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ห้องศูนย์การเรียนรู้ ณ ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดราจีนบุรี ได้แถลงข่าวถึง การตรวจพบซีเซียม – 137 ณ โรงงาน เค.พี.พี.สตีล จำกัด ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 111 ตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี แต่ยังไม่ยืนยันว่าเป็นซีเซียมก้อนเดียวกับวัสดุสารกัมมันตรังสี จากซีเซียม ซึ่งหายไปจากบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบหาข้อมูลเส้นทางของก้อนกัมมันตรังสีซีเซียม – 137 

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญของ ปส. ได้ควบคุมและตรวจสอบพื้นที่โรงงานโดยรอบ พบว่าโลหะที่ได้จากกระบวนการผลิต ไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม – 137 เมื่อตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่โรงงานพบว่า ระดับปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ นอกจากนี้ได้มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ บริเวณโดยรอบโรงงานพบว่า ระดับรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ ไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม สำหรับการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม – 137 ในฝุ่นแดง เกิดขึ้นจากโรงงานหลอมโลหะรีไซเคิล ที่รับซื้อเศษโลหะมือสองที่มีการปะปนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม – 137 เข้าไปในกระบวนการหลอมโลหะ และเมื่อวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม – 137 เข้าไปในกระบวนการหลอมซีเชียม – 137 จะถูกหลอมและระเหยกลายเป็นไอกระจายอยู่ในเตาหลอม ซึ่งจะมีระบบการกรองของเสียจากกระบวนการผลิต และเป็นการทำงานในระบบปิดทั้งหมด ซึ่งฝุ่นปนเปื้อนเหล่านี้จะมีระบบกรอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม และถูกจัดเก็บ ควบคุมอยู่ในระบบปิดทั้งหมด ดังนั้น ฝุ่นโลหะปนเปื้อนได้ถูกระงับการเคลื่อนย้าย และจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงาน ปส.ได้ดำเนินการตรวจวัดการเปรอะเปื้อนทางรังสีนอกร่างกายของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดภายในโรงงาน ผลการตรวจสอบไม่พบการเปรอะเปื้อนทางรังสีของผู้ปฏิบัติงานแต่อย่างใด และไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียง

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวตนมีความห่วงใยในความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา จึงได้ลงพื้นที่เร่งด่วน พร้อมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ผู้บริหาร สพฐ. เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมทั้งกำชับให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ เฝ้าระวังและมีมาตรการป้องกันวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม – 137 โดยแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดติดตามข่าวสารสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้เฝ้าระวังความปลอดภัย และให้รีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยด่วน นอกจากนี้ให้เร่งทำแผนเผชิญเหตุคือให้เชื่อมโยงกันในเรื่องของการสร้างการรับรู้ ว่าอาการต่างๆ ที่พึงจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับสารต่างๆ เหล่านี้ ให้มีการสังเกตการณ์ตัวเอง สร้างการรับรู้ผ่านโรงเรียน ตลอดจนผู้ปกครองด้วย ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการรับรู้ในพื้นที่ให้กับประชาชนเช่นเดียวกัน ว่าการที่จะเรียนรู้สังเกตุอาการเบื้องต้น เพื่อไม่ให้เกิดอาการวิตกจนเกินไป หรือต้องปฏิบัติตัวอย่างไรถ้าเกิดมีอาการ จะต้องส่งตัวส่งเด็กหรือส่งผู้ปกครองไปอย่างไร จึงให้รีบทำแผนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และภูมิภาค เขตพื้นที่ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด หากเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นครูจะสามารถเชื่อมต่อกับสาธารณสุขจังหวัด และระดับอำเภออย่างไร ให้สามารถดูแลกับเหตุการณ์นี้โดยเร็วที่สุด