สพฐ. ชื่นชมเวทีสร้างสมรรถนะผู้เรียนในงาน “ตราดรำลึก ครั้งที่ 117”  และแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่เป็นห้องเรียนรวมสร้างคุณค่าเข้าถึงใจผู้เรียน

วันที่ 23 มีนาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมงาน “ตราดรําลึก ครั้งที่ 117” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการของโรงเรียนในสังกัด สพม.จันทบุรี ตราด และ สพป.ตราด โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 มีนาคม 2566 ณ บริเวณสนามหลวงเฉลิมพระเกียรติฯ หน้าศาลากลางจังหวัดตราด ซึ่งมีผู้บริหารหน่วยงานในพื้นที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงนักเรียน ครู สถานศึกษา และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน

สำหรับการจัดงาน “ตราดรําลึก ครั้งที่ 117” ในครั้งนี้ ชาวจังหวัดตราดร่วมกันจัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ทรงดำเนินวิเทโศบายทางการเมืองจนทำให้ฝรั่งเศสยินยอมทำสัญญาคืนเมืองตราดสู่สยาม เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 หรือเมื่อ 117  ปีที่ผ่านมา ภายในงานมีกิจกรรมมากมายประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการจากทั้งภาครัฐและเอกชน การออกร้าน OTOP เมืองตราด การจำหน่ายอาหารพื้นบ้านขนมพื้นเมือง การจัดแสดงแสงเสียง “คชสารคู่แผ่นดิน” ซึ่งจัดแสดงในช่วงเวลา 19.00 น. ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2566 โดยการจัดงานรณรงค์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ร่วมแต่งกายในชุดไทยย้อนยุคเที่ยวชมงาน

ในส่วนของหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่จังหวัดตราด ทั้ง สพม. จันทบุรี ตราด สพป.ตราด และศึกษาธิการจังหวัด ได้มีการจัดนิทรรศการด้านการศึกษา ซึ่งนำเสนอการบูรณาการจัดการศึกษาตามนโยบายการสอนประวัติศาสตร์ การส่งเสริมทักษะอาชีพ การสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศ ตลอดจนการสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมกันในการจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรม ตัวอย่างนิทรรศการที่นำเสนอ อาทิ สพม.จันทบุรี ตราด นำเสนอการส่งเสริมทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และการเป็นผู้ประกอบการ บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สหวิทยาเขตเขาสมิง-บ่อไร) นำเสนอนิทรรศการผลงานของนักเรียนและครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เช่น กิจกรรม Bingo ภาษา (อังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เยอรมัน) กิจกรรม English is Fun โดยครูชาวต่างชาติ กิจกรรม Mini Stage การแสดงความสามารถด้านภาษาของนักเรียน ประกอบด้วยการเล่านิทาน การกล่าวสุนทรพจน์ การร้องเพลง และการประกวดเต้น Cover Dance เป็นต้น (สหวิทยาเขตสตรีประเสริฐศิลป) และนำเสนอกิจกรรมจัดนิทรรศการงานตราดรําลึก ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดตราด มีกิจกรรมย้อนรอยเมืองตราดจากรากเหง้าสู่ต้นกล้า เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเส้นทางประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย เส้นทาง 5 สาย ได้แก่ รากเหง้าเมืองตราด ประวัติศาสตร์ รากฐาน สายธารแห่งศรัทธา ชาวตราดทั่วหล้าแซ่ซ้องเทิดทูนอภิญญาเสด็จพ่อ ร.5 และกิจกรรมเสวนาเมืองตราด (สหวิทยาเขตตราษตระการคุณ) ทางด้าน สพป.ตราด นำเสนอความรู้เรื่องเรือใบ (ศูนย์เครือข่ายสถานศึกษาคลองใหญ่) นำเสนอประวัติชุมชนบ้านใหม่พัฒนา บ่อไร โรงเรียนบ่อพลอย (ศูนย์เครือข่ายสถานศึกษาถิ่นพลอยแดง) นำเสนอการเล่าขานตำนานเจ้าพ่อเขาสมิง 1 (ศูนย์เครือข่ายสถานศึกษาเขาสมิง 1) นำเสนอเรื่องโคกหนองนา (ศูนย์เครือข่ายสถานศึกษาลุ่มแม่น้ำตราด) และศึกษาธิการจังหวัดตราด นำเสนอ “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” โดยจังหวัดตราดมีสถานศึกษานําร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดตราด จำนวน 74 โรงเรียน และมีการจัดทำหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการที่เป็นห้องเรียนรวมรายวิชาพื้นฐานโดยใช้แหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม ที่สอดคล้องกับอาชีวศึกษาในจังหวัด จำนวน 27 หลักสูตร จาก 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมงานในวันนี้ รู้สึกชื่นชมเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่ได้ร่วมกันพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทำให้เห็นถึงสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ทั้งด้านทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ โดยเป็นการต่อยอดจาก Active Learning การใช้แหล่งเรียนรู้เป็นห้องเรียนรวมสามารถนำไปเป็นตัวอย่างของจังหวัดอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ในส่วนของการทำกิจกรรมต่างๆ ในบูธนิทรรศการ นักเรียนได้แสดงออกในเรื่องของการต่อยอดจากการนำความรู้ต่างๆ ที่คุณครูสั่งสอน ออกมาเป็นสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนทั้งในเรื่องของการแก้ไขปัญหา การสื่อสารนำเสนอ พูดจาฉะฉาน มีไหวพริบในการตอบคำถาม รวมทั้งใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย แสดงให้เห็นว่าได้รับการเติมเต็มครูผู้สอนและการส่งเสริมด้านต่างๆ จากผู้บริหารโรงเรียนอย่างเต็มที่

“อีกฟันเฟืองหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือเครือข่ายที่สำคัญ ทุกหน่วยงานทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น สพท. ศธจ. กศน. สช. รวมทั้งอาชีวศึกษา ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสแสดงออก ทุกสังกัดได้มีจุดที่เรียกว่า “ศูนย์รวมใจ” ผู้บริหารทุกสังกัด ได้มีโอกาสมาร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของเขตพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานการศึกษา ทั้ง อบจ. ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นพื้นที่นวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบในที่สุด” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว