สพฐ. ร่วมงาน “ศึกษาธิการ – แรงงาน ร่วมใจ สู่ไทยมีงานทำ” ยกระดับการมีงานทำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

วันที่ 27 มีนาคม 2566 นายภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เข้าร่วมงาน “ศึกษาธิการ – แรงงาน ร่วมใจสู่ไทยมีงานทำ” ภายใต้ความร่วมมือในการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) ร่วมเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ นายไพฑูรย์ จารุสาร ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สพฐ. รวมถึงผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และสถานประกอบการ เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

ทั้งนี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวในระหว่างการเปิดงานว่า ในการจัดการศึกษานั้น สถานศึกษาต้องดำเนินการพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษา ให้มีวิธีคิดและทักษะที่เป็นสากล สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ สอดคล้องกับมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ การจัดเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษาตามความต้องการอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาทักษะทางอาชีพของผู้เรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า จากความร่วมมือ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 สู่การขับเคลื่อนภายใต้การบรูณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงาน ภายใต้รัฐบาลที่นำโดย พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อการส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ สร้างแรงงานมีศักยภาพ มีงานทำ มีรายได้ มีหลักประกันมีความมั่นคงเป็นที่พึ่งของตนเองและผู้อื่น ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจที่สามารถนำมาเสริมศักยภาพในการขับเคลื่อนการศึกษา และร่วมพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ในการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา รวมถึงแรงงานทุกระดับให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือ ให้เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนพัฒนาสมรรถนะในการแข่งขันของประเทศ ให้ผู้จบการศึกษาในทุกระดับ และแรงงาน มีอาชีพ สู่คุณภาพชีวิตที่ดี

โดยตลอดระยะเวลา 1 ปี ในการดำเนินงานร่วมกันส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนที่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับการบูรณาการกับทุกภาคส่วนของทั้งสองกระทรวง ตามกรอบการดำเนินงาน 4 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านระบบฐานข้อมูล Big Data และการส่งเสริมการมีงานทำ การจัดทำแพลตฟอร์มกลาง “ไทยมีงานทำ” ในการบริหารจัดการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำแก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ให้ทุกภาคส่วนทราบอย่างทั่วถึง โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาในสังกัด สอศ. ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงแหล่งงานจากผู้ประกอบการโดยตรง จำนวน 420,494 คน 2. ด้านการพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาบุคลากรและครูผู้สอน  เป็นการพัฒนาหลักสูตร Up – Skill, Re – Skill และหลักสูตร e – Learning ที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน และกฎหมายแรงงานที่ควรรู้ โดยมีการพัฒนาหลักสูตรยานยนต์ไฟฟ้า EV เชื่อมโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน 7 สาขาอาชีพ ในสถานศึกษา จำนวน 52 แห่ง มีหลักสูตรได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ จำนวน 42 สาขาวิชา หลักสูตรที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน 273 สาขาอาชีพ จำนวน 933 รายวิชา หลักสูตรระยะสั้นที่เชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ จำนวน 5 สาขาอาชีพ (สาขาอาชีพช่างยนต์, อาชีพช่างเชื่อมโลหะ, อาชีพผู้ประกอบการอาหารและโภชนาการ, อาชีพช่างเสริมสวย, อาชีพช่างไฟฟ้า) 3. ด้านการทดสอบและการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและการประเมินการจัดตั้งศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ เป็นการยกระดับสมรรถนะนักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับด้วยระบบการรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยมีศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสถานศึกษาสังกัด ศธ. เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 264 แห่ง มีผู้อบรมทดสอบในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 266 คน และในปีนี้ จำนวน 251 คน โดยศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดตั้งศูนย์ในสถานศึกษาเป็นระยะเวลา 3 ปี 4. ด้านการส่งเสริมและพัฒนางานในการจัดการอาชีวศึกษาด้านทวิภาคี และการแข่งขันฝีมือแรงงาน เป็นการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง เพื่อยกระดับกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง จัดฝึกอบรมครูฝึกในสถานประกอบการ จำนวน 1,966 คน การพัฒนาระบบยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านระบบ PRB e-service เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมการจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคี การดำเนินงานร่วมกับสำนักงานประกันสังคม ปรับปรุงแนวทางการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และพัฒนานักเรียน นักศึกษาให้มีสมรรถนะสูงตามมาตรฐานสากล World Skills

“จะเห็นได้ว่า จากการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง ส่งผลทำให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพและมีรายได้ที่เหมาะสมต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

นอกจากนี้ภายในงานยังจัดให้มีตลาดนัดแรงงาน (Job Fair) การรับสมัครงานของสถานประกอบการ การอบรมอาชีพอิสระ หรือ 108 อาชีพ การรับสมัครออนไลน์ ฝึกอบรมหลักสูตร Up-Skill และให้บริการลงทะเบียนหางานออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม ไทยมีงานทำ (Thaiมีงานทำ) โดยผู้ที่สนใจหางานสามารถลงทะเบียนผ่าน แพลตฟอร์ม ไทยมีงานทำ (Thaiมีงานทำ) ได้อีกด้วย

ข้อมูลข่าว โดย ศูนย์ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษา