รวมพลคุรุทายาททั้งประเทศ  สานพลังพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย

วันที่ 4 มิถุนายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมงานและบรรยายพิเศษ หัวข้อ “บทบาทของคุรุทายาทกับการพัฒนาการศึกษาไทย” ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการและประชุมใหญ่สมาคมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย “รวมพลคนคุรุทายาท ครั้งที่ 7” จัดโดยเครือข่ายคุรุทายาทนักพัฒนาการศึกษา ชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน 2566 ณ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ โดยมีสมาชิกครูโครงการคุรุทายาททั่วประเทศ รวมถึงผู้อำนวยการสำนักใน สพฐ. ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด อาจารย์มหาวิทยาลัย ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนทั่วประเทศ จำนวนกว่า 150 คน เข้าร่วมประชุม

สำหรับการประชุม “รวมพลคนคุรุทายาท ครั้งที่ 7” มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและพัฒนาศักยภาพของสมาชิกคุรุทายาททั่วประเทศ โดยการจัดตั้งสมาคมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งร่วมเสนอแนวคิดการจัดการศึกษาในสภาวะกาลปัจจุบัน และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมสร้างและพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพตามอุดมการณ์ของครูคุรุทายาท โดยมีกิจกรรมในงาน ได้แก่ การประชุมใหญ่สามัญเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย, การบรรยายพิเศษหัวข้อ “อุดมการณ์ของคุรุทายาท” โดย นายวีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ (คุรุทายาท รุ่น 1), กิจกรรมมอบธง “รวมพลคุรุทายาท ครั้งที่ 8”, เวทีเสวนาและระดมสมอง “ก้าวข้ามกับดักการศึกษาไทย” โดยมี ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา (คุรุทายาท รุ่นที่ 1) ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ อนุกรรมการโครงการครูรักษ์ถิ่นและประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย (คุรุทายาท รุ่นที่ 1) ร่วมเสวนา และ ศน. วีรัตน์ สานุมิตร (คุรุทายาท รุ่น 5) ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล ศธจ. เชียงราย ดำเนินรายการ รวมถึงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และสรุปข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย (คุรุทายาท Voice) เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ปัจจุบันครูในโครงการคุรุทายาทซึ่งมี 13 รุ่น มีบทบาทอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ ซึ่งตนเองก็เป็นหนึ่งในโครงการคุรุทายาท บทบาทการทำงานในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตั้งแต่เป็นครูผู้สอน เป็นผู้บริหารสำนักใน สพฐ. จนกระทั่งเป็นรองเลขาธิการ กพฐ. สามารถขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง รู้ชีวิตครู เข้าใจและรู้จักนักเรียน รวมทั้งบริบทของชุมชนที่นักเรียนอยู่ แสวงหาสิ่งดีๆเพื่อโอกาสในการพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล   ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของโครงการคุรุทายาทคือคัดเลือกคนที่เรียนเก่ง มีความประพฤติดี มีความรับผิดชอบมารับราชการครูโดยไม่มีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ และมาบ่มเพาะอยู่หอพัก มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ จึงจะเห็นได้ครูในโครงการคุรุทายาททุกคนล้วนเป็นที่ยอมรับและพร้อมในการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายในปัจจุบันนี้ครูในโครงการคุรุทายาทมีอยู่ในทุกระดับของวงการศึกษา มีการร่วมกันทำงานเชิงคุณภาพในหลายๆผลงาน เครือข่ายที่เข้มแข็งเกิดการรวมตัวเกิดแนวคิดอันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทำให้คุณภาพของผู้เรียนบรรลุตามเป้าหมายของ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการต่อไปอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ จากการบ่มเพาะของมหาวิทยาลัยและความเอาใจใส่ของคณาจารย์ที่ได้มอบความรู้ ปลูกฝังแนวคิด ความประพฤติ จรรยาบรรณ มารยาท และที่สำคัญ คือ อุดมการณ์ของความเป็นครูให้แก่คุรุทายาททุกคน หล่อหลอมจนเกิดเป็นหลักคิด ซึ่งเป็นเข็มทิศที่สำคัญในการทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาของไทยให้นำไปสู่เป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ “คุณภาพของผู้เรียนทุกคน” โดยไม่ทิ้งนักเรียนคนใดไว้ข้างหลัง พวกเราในฐานะชาวคุรุทายาทจึงต้องทำหน้าที่ของตนเองที่ได้รับอย่างมุ่งมั่น เต็มที่ เต็มกำลัง และตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนานักเรียนทั้งในด้านความรู้ คุณธรรม และทักษะชีวิต เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตร ครอบคลุมทุกด้านอย่างมีคุณภาพตามศักยภาพของนักเรียนและบริบทของโรงเรียน ดังนั้นเราต้องสร้างเครือข่าย ร่วมกันพัฒนางานในทุกระดับให้ทั้งในระดับส่วนกลาง ระดับพื้นที่ และระดับสถานศึกษา ให้เกิดการนำสู่การปฏิบัติอย่างมีคุณภาพและเกิดผลลัพธ์ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ชัดเจน เป็นรูปธรรม โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาร่วมกันตามแนวคิด “ปลดรั้ว หลอมใจ ใส่คุณภาพ”

“สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ เพื่อต่อยอดพัฒนาและเป็นกระบอกเสียงว่า คุรุทายาทนั้นได้สร้างสรรค์ สร้างคุณประโยชน์ด้านการศึกษา เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนครูทั้งประเทศได้เห็นคุณค่าของความสามัคคี และส่งเสริมจิตสาธารณะของบุคลากรในแวดวงการศึกษาทั่วประเทศ คุรุทายาททุกคนเข้ามาร่วมกันทำงาน มาร่วมกันสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการบรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ประการ ได้แก่ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน สมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียน และคุณภาพของผู้เรียนตามมาตรฐานตัวชี้วัด โดยสิ่งที่เราจะมอบให้แก่กันคือ “พลังใจ” ที่จะนำพาพวกเราชาวคุรุทายาทให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมุ่งมั่นเต็มที่ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพนักเรียนผู้ที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบการศึกษาต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว