เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” นำทีม สพฐ. ชี้แจงแนวทางบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ลดภาระครู มอบอำนาจจัดซื้อจัดจ้างให้เขต ต่อยอดความก้าวหน้าให้ธุรการโรงเรียน

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการผู้ปฏิบัติราชการ ตำแหน่งธุรการโรงเรียน ตามนโยบายบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มุ่งเน้นให้บริหารทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระงานอื่นๆของครู ให้ครูได้สอนและดูแลนักเรียนอย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยมีรองเลขาธิการ กพฐ. (นายพัฒนา พัฒนทวีดล) ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. (นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธํารง) พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักของ สพฐ. ที่เกี่ยวข้อง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารการเงินและสินทรัพย์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ร่วมการประชุม ผ่านระบบ Video Conference
.
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า “สพฐ. มีโรงเรียนมากกว่า 29,000 โรง โดยมีโรงเรียนขนาดเล็กมากกว่าร้อยละ 50 ของโรงเรียนทั้งหมด (โรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน จำนวน 14,995 โรง) และในกลุ่มของโรงเรียนขนาดเล็กนี้ จะเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน อยู่จำนวน 6,982 โรง ซึ่งหลายโรงเรียนมีข้อจำกัดด้านบุคลากร ทำให้ครูต้องแบกรับภาระงานอื่นๆ นอกจากงานสอน และเพื่อลดภาระครูพร้อมดูแลโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ สพฐ. จึงให้สำนักงานเขตพื้นที่พิจารณาจัดกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน และให้กำหนดธุรการโรงเรียนช่วยงานทั่วไปของโรงเรียนเครือข่าย มุ่งเน้นลดภาระงานอื่นๆ ของครู ให้ครูได้ทุ่มเทกับงานสอน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ตามนโยบาย เรียนดี มีความสุข ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)”
.
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 สพฐ.ได้มีการปรับปรุงคำสั่งมอบอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการแทนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแทนโรงเรียนขนาดเล็ก ลดภาระครู และช่วยลดปัญหาหรือความเสี่ยงในการดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้างที่อาจไม่ครบถ้วน ถูกต้อง
.
ทั้งนี้ สำนักงานเขตพื้นที่สามารถพิจารณาจัดสรรตำแหน่งธุรการโรงเรียนมาปฏิบัติหน้าที่บนสำนักงานเขตพื้นที่ โดยมอบหมายให้ดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างควบคู่ไปกับงานธุรการทั่วไปได้ตามความเหมาะสม และจากการที่เขตพื้นที่ต้องรับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มขึ้น เลขาธิการ กพฐ. จึงได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) คิดรูปแบบการกำหนดอัตราของเขตพื้นที่ใหม่ เพื่อให้สอดรับกับเนื้องานที่เพิ่มขึ้นด้วย
.
“การประชุมครั้งนี้ ขอกำชับให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศรับทราบการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กแนวใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ต้องรู้จักโรงเรียน พื้นที่ และสามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม ตามแนวทางที่ สพฐ. ให้ไว้ การบริหารโรงเรียนขนาดเล็กบนข้อจำกัดต่างๆ เช่น ครูไม่ครบชั้น ขาดผู้บริหาร ขาดแคลนงบประมาณ รวมถึงความทุรกันดารของพื้นที่ เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของ สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานเดียวที่จะช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนทุกขนาดสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ จึงขอเน้นย้ำให้ทุกเขตพื้นที่ใช้อำนาจการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐอย่างโปร่งใส ได้คุณภาพและเป็นคุณต่อโรงเรียน และให้เร่งจัดทำแนวทางการบริหารจัดการผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ตำแหน่งธุรการโรงเรียน ให้แก่โรงเรียนเครือข่าย โดยบูรณาการกระบวนการทำงานและบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน ซึ่ง สพฐ. กำลังศึกษาแนวทางการต่อยอดความก้าวหน้าในวิชาชีพให้แก่บุคลากรตำแหน่งธุรการโรงเรียนควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ หากสำนักงานเขตพื้นที่และ สพฐ. ร่วมกันพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กได้สำเร็จ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาชาติได้อย่างยั่งยืน” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว