สพฐ. ลุย ยกระดับคุณภาพสู่ PISA จับมือ สจล. ให้เทคนิคครูสอนวิทยาการคำนวณ เสริมสมรรถนะการคิดแก้ปัญหาให้นักเรียนการศึกษาพิเศษ

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ให้เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (Computer Science) เพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านการแก้ปัญหา ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น กรุงเทพมหานคร โดยมี นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สศศ.สพฐ.) พร้อมด้วย คณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และครูผู้สอนวิทยาการคำนวณของโรงเรียนสังกัด สศศ. จำนวน 2 รุ่น รวมทั้งสิ้น 196 คน

การดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (Computer Science) เพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านการแก้ปัญหานี้ เป็นความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สศศ. สพฐ. กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนเฉพาะความพิการ ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะการแก้ปัญหา โดยใช้แนวคิดเชิงคำนวณและการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ได้

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า “เมื่อ พ.ศ. 2560 สพฐ. ได้ปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งหนึ่งในการปรับที่สำคัญ คือ การเพิ่มเติมเนื้อหา “วิทยาการคำนวณ” ไว้ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นวิชาบังคับ สำหรับนักเรียนทุกคน ตั้งแต่ ป.1 – ม. 6 ซึ่งเนื้อหาหลักสูตรวิชาเทคโนโลยีเดิมนั้น เน้นให้นักเรียนรู้จักและเข้าใจซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ในฐานะผู้ใช้ แต่ในหลักสูตรวิทยาการคำนวณใหม่นี้ จะสอนให้นักเรียนเป็นผู้พัฒนาและได้ฝึกหัดคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น และเมื่อพูดถึง “วิทยาการคำนวณ” หลายคนอาจคิดถึงการให้นักเรียนเขียนโค้ด เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่จริง ๆ แล้ววิชานี้ หลักใหญ่ใจความ คือ การสอนคน ให้คิด เป็นการฝึกให้เด็ก มีพื้นฐานความคิดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน ตัดสินใจแก้ปัญหาบนฐานข้อมูล และรู้เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งเนื้อหา “วิทยาการคำนวณ” นี้ เป็นประเด็นที่นักการศึกษาทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ เห็นได้จากการสอบ PISA 2022 ครั้งล่าสุด ที่เพิ่งประกาศผลไป ได้กำหนดให้มีการวัดความสามารถการคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) เป็นส่วนหนึ่งของกรอบการประเมิน โดยสอบถามกระบวนการในการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลเป็นขั้นตอน”

“ขอชื่นชมวิสัยทัศน์ของคณะทำงานทุกคน รวมถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจของคณะครูผู้เข้าอบรม ที่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถการคิดเชิงคำนวณนี้ สพฐ. ไม่ได้คาดหวังเพียงเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA แต่มุ่งหวังว่า พลังของคุณครูทุกคนจะช่วยให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะสำคัญของการเป็นคนคุณภาพในศตวรรษที่ 21 สามารถในการแก้ปัญหามีทักษะการใช้ชีวิต ได้รับการส่งเสริมศักยภาพในการสร้างอาชีพ สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ซึ่งการพัฒนาคนคุณภาพนี้จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง ยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว