พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี เปิดโครงการพัฒนาผู้บริหารและข้าราชการครู ภายใต้แนวคิดผู้บริหารยุคใหม่ ภูมิใจในประวัติศาสตร์และยึดมั่นในสถาบัน

วันที่ 29 มกราคม 2567 พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาผู้บริหารและข้าราชการครู ภายใต้แนวคิดผู้บริหารยุคใหม่ ภูมิใจในประวัติศาสตร์และยึดมั่นในสถาบัน โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานศึกษาพิเศษ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยรัฐกิจมหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และผู้บริหารกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เข้าร่วม ณ โรงแรมเอวาน่า แกรนด์ คอนเวนชัน บางนา กรุงเทพมหานคร

พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเข้ามาดูแลมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ สนับสนุนด้านการป้องกันสาธารณภัยทั่วประเทศ สงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นส่วนรวมแก่ประชาชนที่ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนประการอื่น พร้อมทั้งให้การสงเคราะห์ด้านการศึกษา เช่น ทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้าหรือเด็กที่ครอบครัวประสบสาธารณภัย ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ให้การสนับสนุนกิจการของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ รวมถึงดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ โดยไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด ซึ่งในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้มีโอกาสเข้ามาดูแลด้านการศึกษา ดูแลโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ด้วย

“จากที่ได้ฟังคำกล่าวรายงานของผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ผมรู้สึกชื่นชมและขอขอบคุณอย่างยิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการได้คิดสร้างโครงการดี ๆ ให้เกิดขึ้นต่อผู้บริหาร และครู เพื่อนำไปสู่นักเรียน ขอขอบคุณความตั้งใจอันยิ่งใหญ่ที่จะสร้างจุดประกายจุดเล็กๆ แห่งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ และขออวยพรให้ผู้บริหาร ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิดที่สมบูรณ์ สามารถที่จะคิดอ่านกระทำการทุกอย่างในหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จในการดำเนินการโครงงานต่างๆ เพื่อสร้างคุณภาพให้เด็กไทยได้พัฒนาศักยภาพของตนอย่างเสมอภาคในทุกพื้นที่ต่อไป” พลเรือเอก พงษ์เทพ กล่าว 

ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้นำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อนเพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาเต็มกำลังความสามารถอย่างกัลยาณมิตรต่อกันภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งการเรียนการสอนจำเป็นต้องเริ่มจากความสุขทั้งผู้เรียนผู้สอน และผู้ปกครอง เมื่อมีความสุขจะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น และการเรียนดีขึ้นจะส่งผลกลับไปทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาให้เป็นไปตามอัตลักษณ์ที่ว่า “จงรักภักดี มีคุณธรรม น้อมนำแนวทางพระราชดำริ” และมุ่งเน้นให้สถานศึกษาสร้างเด็ก ให้รู้ถึงคุณค่าและเข้าใจในประวัติศาสตร์แห่งตน ประวัติศาสตร์ชาติไทย สร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้พระบาทสมเด็จพระบรมชนการธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้พระราชทานกำเนิด “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่าง ๆ พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เด็กกำพร้าหรือที่ครอบครัวประสบสาธารณภัย โดยได้จัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 58 แห่ง (สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 20 แห่ง สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 38 แห่ง) และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่ ในหลวงรัชกาล 10 ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด การดำเนินงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 9 แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์อยู่ในความดูแลของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระราชทานบรมราชานุญาตเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

“การประชุมในครั้งนี้จึงมีความมุ่งหวังที่จะให้ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีความตระหนักและมุ่งเน้นให้ครูและบุคลากรได้ศึกษาประวัติศาสตร์และเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง และนำความรู้ที่ได้ไปสู่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจประวัติศาสตร์และภาคภูมิใจในความเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทย มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจอดีต นำมาปรับใช้ในปัจจุบัน และก้าวต่อไปในอนาคต อย่างมีคุณภาพต่อไป” นายสิริพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาบรรยายให้ความรู้ในการประชุมครั้งนี้ด้วย อาทิ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต เรื่อง “พระมหากษัตริย์กับวิวัฒนาการสังคมไทย” นายไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการอิสระ นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักเขียน เรื่อง “การอบรมเพื่อสร้างการรับรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยจากมุมมองต่างชาติ และแนวทาง 9 ข้อ การสอนวิชาประวัติศาสตร์แก่เยาวชนไทย” นายแพทย์สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี และแพทย์หญิงดวงดาว ตรียากุล โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เรื่อง “การดูแลนักเรียนในสถานศึกษา โดยใช้จิตวิทยาสังคมเชิงบวกในการแก้ไขปัญหาอภิปราย” เป็นต้น