เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” เปิดงานมหกรรมความสามารถทางศิลปหัตถกรรม วิชาการ และเทคโนโลยีของนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 71 ปีการศึกษา 2566 ภายใต้แนวคิด “เรียนดี มีความสุข” สพม.กทม. เขต 1

วันที่ 29 มกราคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมความสามารถทางศิลปหัตถกรรม วิชาการ และเทคโนโลยีของนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 71 ปีการศึกษา 2566 ภายใต้แนวคิด “เรียนดี มีความสุข” โดยมี นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 (ผอ.สพม.กทม. เขต 1) คณะผู้บริหารโรงเรียน คณะครูและนักเรียน เข้าร่วม ณ โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ กรุงเทพมหานคร

นายนิยม ไผ่โสภา ผอ.สพม.กทม. เขต 1 กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่มุ่งหวังให้เยาวชนไทย หันมาเอาใจใส่ในการเรียนวิชาชีพ ฝึกฝนทักษะฝีมือตนเองให้มีความเป็นเลิศและรอบรู้ในวิชาชีพที่ตนเองถนัด อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการประกอบอาชีพในอนาคต เป็นเวทีให้นักเรียนได้แสดงออกถึงความรู้ความสามารถ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของการจัดการศึกษาและเผยแพร่ผลงานการจัดการศึกษาสู่สาธารณชน และในการจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 71 ปีการศึกษา 2566 โดยมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขต ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายและใช้หลักเกณฑ์การแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565

“สพม.กทม. เขต 1 จึงกำหนดจัดงานมหกรรมความสามารถทางศิลปหัตถกรรม วิชาการ และเทคโนโลยีของนักเรียนนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 71 ปีการศึกษา 2566 เพื่อเป็นเวทีให้นักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนักเรียนปกติและนักเรียนเรียนรวม จากโรงเรียนในสังกัดและสังกัดอื่น ในพื้นที่ความรับผิดชอบ ได้แสดงออกถึงความรู้ความสามารถ ผลสำเร็จของการจัดการศึกษา ผ่านนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) “เรียนดี มีความสุข” กำหนดการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 15 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงเรียนที่เป็นศูนย์/สนามการแข่ง รายการแข่งขัน จำนวน 283 รายการ ศูนย์/สนามการแข่งขัน จำนวน 35 ศูนย์ โรงเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกสังกัด จำนวน 126 โรง นักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 13,328 คน ครูผู้ฝึกสอน จำนวน 9,070 คน รวมทั้งสิ้น 22,398 คน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน” ผอ.สพม.กทม. เขต 1 กล่าว

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ขอชื่นชม คณะกรรมการจัดงานทุกท่าน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา อย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ที่เป็นการสืบสาน รักษา และ ต่อยอด ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ ส่งเสริม Soft Power ให้เป็นที่ รู้จักและได้รับการยอมรับจากสังคม สมดัง พระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงริเริ่มการจัดงานศิลปหัตถกรรมเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนและเยาวชนไทยได้เห็นความสำคัญของงานด้านศิลปหัตถกรรม และเป็นไปตามนโยบายของ ศธ. และ สพฐ. ที่มอบหมาย สพท. ทุกเขต ให้ส่งเสริม สนับสนุน และเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมซึ่งเป็นเวที ให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพ โดยมี ขอบข่ายเนื้อหาการจัดงาน ที่หลากหลายและกว้างขวาง ทั้งด้านวิชาการด้านเทคโนโลยี ครอบคลุมองค์ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมโลกปัจจุบัน

สำหรับการจัดการศึกษา มีเป้าหมายสูงสุด คือ พัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ได้เน้น การจัดการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครอง โดยใช้หลักการ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ที่ต้องจัดหาประสบการณ์ที่ดี ให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของตนเอง จัดเวทีและพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการแสดงความสามารถ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม อย่างเต็มที่ เต็มใจ และมีความสุข

“ขอขอบคุณ หน่วยงาน องค์กร ภาครัฐและภาคเอกชน ที่ให้การสนับสนุน ขอชื่นชม และเป็นกำลังใจ ให้ผู้บริหาร คณะกรรมการดำเนินงาน ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู โดยเฉพาะ ลูก ๆ นักเรียน ซึ่งเป็นคนสำคัญที่สุด ที่มุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเทฝึกฝนตนเอง จนสามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว