สพฐ. ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดภาระการประเมินของสถานศึกษา ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

วันที่ 7 มีนาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดภาระการประเมินของสถานศึกษา ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และมอบนโยบายการลดภาระการประเมินของสถานศึกษา โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และบุคลากรผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินการลดภาระการประเมินของสถานศึกษา ของ สพท. จำนวน 245 เขต และบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สตผ. อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 7 และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting

นายธีร์ ภวังคนันท์ (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยได้กำหนดนโยบายระยะเร่งด่วน (Quick Win) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้อ 4 ลดภาระการประเมินของสถานศึกษา สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ซึ่งได้ขับเคลื่อนการดำเนินการตามแนวคิด OBEC Share Together ลดภาระครู  มุ่งสู่องค์กรแห่งความสุข ด้วยกระบวนการ 3L โมเดล โดยใช้แนวทาง 6ล ในการขับเคลื่อนลดภาระการประเมินของสถานศึกษา

โดย สพฐ. ได้มีการขับเคลื่อนเพื่อลดภาระการประเมินในระดับ สพฐ. ร่วมกับสำนักในระดับส่วนกลางเพื่อลดภาระการประเมิน โดยมี เป้าหมายการดำเนินการให้ทุกสำนักมีการตรวจสอบโครงการ/กิจกรรม/ภาระงานที่ดำเนินการกับ สพท./สถานศึกษา และเสนอลดภาระการประเมิน ตามแนวทาง 6ล

สำหรับการขับเคลื่อนลดภาระการประเมินในระดับ สพท. นั้น สพฐ. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการของ สพท. เพื่อลดภาระการประเมินจากภาระงานที่ สพท. ดำเนินการให้สถานศึกษารายงาน/ประเมิน และแนวทางของ สพท. ในการส่งเสริม สนับสนุนสถานศึกษาในสังกัด ให้มีการลดภาระตามแนวทาง 6ล โดยเป้าหมายในระดับ สพท. คือ ทุกโครงการ/กิจกรรม ของ สพท. ที่มีการเก็บข้อมูลการรายงาน/ประเมินจาก สถานศึกษามีการลดภาระการประเมิน ตามแนวทาง 6ล และเป้าหมายความสำเร็จของนโยบาย ได้แก่

1. ภาระงานการประเมินของสถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และภาระการประเมินในภาพรวมของ สพฐ. ลดลง ทั้ง 3 ระดับ

2. ประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนของครูเพิ่มขึ้นส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนเพิ่มขึ้น

และ 3. ครูมีความสุข และ สพฐ. เป็นองค์กรที่มีความสุข ตามนโยบายของ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ สพฐ. จะมีการขับเคลื่อน และกำกับ ติดตามการดำเนินการเพื่อลดภาระการประเมินร่วมกันทั้ง 3 ระดับ คือ สำนักในส่วนกลาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

ภาพ/ข่าว : สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน