เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” เปิดการแข่งขันกีฬา-กรีฑานักเรียน “บ่อแก้วเกมส์ ครั้งที่ 3”

วันที่ 8 มีนาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา-กรีฑานักเรียน กลุ่มเครือข่ายพัฒนาประสิทธิภาพการศึกษาที่ 40 (บ่อแก้ว) “บ่อแก้วเกมส์ ครั้งที่ 3” ประจำปีการศึกษา 2566 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม 2567 โดยมีนายกัมปนาท วังสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนนิคมสร้างตนเองห้วยคล้า 2 และประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนักกีฬา ผู้ควบคุมทีม ครูและนักเรียน ผู้บริหารโรงเรียนในเครือข่าย และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมในพิธี ณ โรงเรียนนิคมสร้างตนเองห้วยคล้า 2 อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ

โดยการแข่งขันกีฬานักเรียนกลุ่มเครือข่ายฯ ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ทั้ง 4 โรงเรียน ในกลุ่มตำบลบ่อแก้ว ได้แก่ 1. โรงเรียนบ้านหนองบัว 2. โรงเรียนบ้านสร้างสะแบง 3. โรงเรียนนิคมสร้างตนเองห้วยคล้า 2 และ 4. โรงเรียนนิคมสร้างตนเองห้วยคล้า 3 โดยใช้ชื่อว่า “บ่อแก้วเกมส์ ครั้งที่ 3” ซึ่งภายในงาน มีการจัดการแข่งขันกีฬา 9 ประเภทกีฬา ได้แก่ ฟุตบอลชาย ฟุตบอลหญิง วอลเล่ย์บอลชาย วอลเล่ย์บอลหญิง เซปักตะกร้อชาย เซปักตะกร้อหญิง เปตองชายเดี่ยว เปตองหญิงเดี่ยว โยน รับ บอลผสมชั้นอนุบาล การแข่งขันกรีฑา จำนวน 16 รายการ มีนักกีฬา ผู้ควบคุมทีมและเจ้าหน้าที่จากโรงเรียน จำนวน 4 โรงเรียน เข้าร่วมการแข่งขัน โดยใช้สนามแข่งขันโรงเรียนบ้านสร้างสะแบง พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุน และให้ความร่วมมือจากหลายฝ่ายเป็นอย่างดี ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ปกครองนักเรียน เป็นต้น

สำหรับการแข่งขันกีฬานักเรียนกลุ่มเครือข่ายฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพพลานามัยของนักเรียนและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการกีฬา เห็นคุณค่าและความสำคัญของการเล่นกีฬา ส่งเสริมให้นักเรียนแสดงความสามารถและพัฒนาศักยภาพด้านกีฬา และเพื่อปลูกฝังความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพราะการกีฬาเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักเรียนเป็นผู้มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ มีความสามัคคี มีน้ำใจเป็นนักกีฬา และห่างไกลยาเสพติด จึงนับว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข ” เพราะร่างกายที่แข็งแรง จะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ขอขอบคุณภาพ จาก ประชาสัมพันธ์ สพป.ศรีสะเกษ เขต 1