สพฐ. ขานรับมติ ครม. ไฟเขียวงบอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส 2,955 ล้านบาท พร้อมงบจ้างนักการภารโรง 14,210 อัตรา เร่งเดินหน้าลดภาระนักเรียนและครู สร้างคุณภาพอย่างเท่าเทียมทั่วประเทศ

วันที่ 27 มีนาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ได้มีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอของบอาหารกลางวัน จำนวน 2,955 ล้านบาท ในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส จำนวน 7,344 แห่ง ประกอบด้วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) จำนวนนักเรียนรวมทั้งสิ้น 575,983 คน ซึ่งจะเป็นงบประมาณในปี 2568 สำหรับนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โดยจำนวนนักเรียน 1-40 คน ได้รับงบสนับสนุน 36 บาท/คน/วัน จำนวนนักเรียน 41-100 คน ได้รับงบฯ 27 บาท/คน/วัน จำนวนนักเรียน 101-120 คน ได้รับงบฯ 24/บาท/คน/วัน และจำนวนนักเรียน 120 คนขึ้นไป ได้รับงบฯ 22/บาท/คน/วัน

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบการจ้างนักการภารโรงให้แก่โรงเรียนที่ขาดให้มีครบทุกโรงเรียน จำนวน 14,210 อัตรา โดยในปีงบประมาณ 2568 จะมีการดำเนินการจ้างรวมจำนวน 25,370 อัตรา ซึ่งจะสามารถดำเนินการจ้างได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2568 จากนั้นก็จะดำเนินการเตรียมการเพื่อของบประมาณในปีต่อๆ ไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนทางด้านงบประมาณสำหรับจ้างนักการภารโรงในปี 2567 นั้น ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในส่วนของงบจ้างนักการภารโรงของปี 2567 แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการจัดทำคำของบเพิ่มเติมไปที่สำนักงบประมาณและส่งผ่านมายัง ศธ. หลังจากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติอีกครั้ง โดยในปีงบประมาณ 2567 นี้ จะมีการจ้างนักการภารโรง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2567 ซึ่งหมายความว่า นับแต่เปิดภาคเรียนใหม่ที่จะถึงนี้ โรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ จะมีนักการภารโรงครบทุกโรงเรียนเป็นที่แน่นอน

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า สพฐ. ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับงบอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาสฯ และงบสำหรับจ้างนักการภารโรง โดย สพฐ. พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงาน และเดินหน้าสานต่อนโยบายลงสู่สถานศึกษาและผู้เรียนทั่วประเทศ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายนักเรียนและผู้ปกครอง และยกระดับการศึกษาไทยในภาพรวมทั้งระบบ โดยงบอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาสฯ จะช่วยแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียน โดยส่งเสริมมื้อกลางวันกินฟรี สุขภาพดีตามหลักโภชนาการ ให้เด็กและเยาวชนได้กินดี มีความสุข เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ ส่งผลให้นักเรียนได้รับโอกาส ความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงแก้ปัญหาโรงเรียนเฉลี่ยค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึง ป.6 เป็นค่าอาหารกลางวันให้นักเรียนระดับชั้น ม.1-3 ซึ่งดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ได้มีงบสนับสนุนในส่วนนี้โดยตรง และตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย

“ในส่วนของการจ้างนักการภารโรงนั้น ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ยกเว้นการอยู่เวรยามในสถานศึกษา ซึ่งถึงแม้สถานศึกษาจะมีกล้องวงจรปิด แต่ก็ยังปรากฎความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและภาระงานในการดูแลรักษาความปลอดภัย อาคารสถานที่ สภาพแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค และทรัพย์สินของทางราชการในโรงเรียน ยังคงมีอยู่ ภาระหน้าที่ดังกล่าวจึงตกไปเป็นภาระของครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงรียน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจ้างนักการภารโรงให้ครบทุกโรงเรียน เพื่อความปลอดภัยของครูและนักเรียน ให้โรงเรียนอยู่ในสภาพที่สะอาด ปลอดภัย เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ลดภาระงานครู ให้ครูมีเวลาทำหน้าที่หลักคือการจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพ ให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยของครูและนักเรียน “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว