สพฐ. ร่วมประชุมเวทีโลกว่าด้วยผลกระทบทางจิตสังคมของโรคระบาดใหญ่ต่อเด็ก ร่วมพัฒนาความร่วมมือเพื่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน

วันที่ 27 มีนาคม 2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ให้เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วย นางนัยนา ตันเจริญ ผู้อำนวยการ สพป.นครราชสีมา เขต 2 นางสาวอัจฉรา ช่วยนุ่ม ผู้อำนวยการ สพม.เชียงใหม่ นายนิพนธ์ จันเลน นักวิชาการ สาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย เดินทางเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการของเอเปคว่าด้วยจัดการกับผลกระทบทางจิตสังคมของโรคระบาดใหญ่ต่อเด็กชาย เด็กหญิง และวัยรุ่นในเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ เมืองซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2567 เพื่อเพิ่มทักษะแก่บุคลากรทางการศึกษาในการรับมือกับผลกระทบทางจิตสังคมของโรคระบาดใหญ่ต่อเด็กและวัยรุ่นในเขตเศรษฐกิจเอเปค

ทั้งนี้ การประชุมวิชาการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเอเปคที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบทบาทที่เข้มแข็งของการศึกษาผ่านความร่วมมือข้ามสาขาในการส่งเสริมการพัฒนาทางสังคม ทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และความยั่งยืน พร้อมทั้ง ระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การดูแลช่วยเหลือนักเรียนจากผลกระทบภาวะทางจิตวิทยาที่เกิดกับโรคอุบัติใหม่และภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยความรุนแรงด้านอื่นๆ เนื่องจากหลายประเทศมีภาวะช็อกจากภัยต่างๆ เหมือนกับประเทศไทย เช่น ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด เป็นต้น

นายธีร์ กล่าวว่า จากการประชุมดังกล่าว ทำให้เราค้นพบบทสรุปว่า การจัดการศึกษาด้านจิตวิทยาวัยรุ่นควรเติมกรอบวิธีคิดและแผนเชิญเหตุอย่างรอบด้านที่ต้องทำทันที เพราะผลกระทบที่เกิดกับเด็กเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ดังนั้นตนจะนำแนวทางที่ได้จากการประชุมครั้งนี้เสนอให้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. รับทราบ เพื่อรายงานต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้รับทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้านจิตวิทยากับนักเรียนที่เป็นมาตรฐานสากล โดยจะต้องมีการปรับแนวทางการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาเข้าไปในวิชาวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะวิทยาศาสตร์คือศาสตร์การเรียนแขนงหนึ่งทางด้านภัยบัติและภัยธรรมชาติพร้อมผสมผสานกับศาสตร์จิตวิทยาในประเด็นนี้ได้ เช่น จัดทำเป็นกิจกรรมหรือเติมองค์ความรู้สอดแทรกเข้าไปในวิชาวิทยาศาสตร์ได้ เป็นต้น เพื่อให้เด็กได้มีองค์ความรู้ว่าเมื่อต้องเผชิญเหตุความรุนแรงทุกรูปแบบจะจัดการกับตัวเองและคนรอบข้างอย่างไร และสถานศึกษาจะมีบทบาทการเผชิญเหตุที่มีประสิทธิในรูปแบบไหน

“แม้เราจะมีแผนเผชิญเหตุในสถานศึกษาอยู่แล้วแต่ผมว่ายังไม่คมชัดมากพอ และยังไม่มีการเตรียมครูและเด็กให้ทราบถึงแผนเผชิญเหตุเท่าที่ควร เพราะหลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันในเวทีการประชุมดังกล่าวประเทศไทยได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศว่า ประเทศไทยบริหารจัดการด้านการช่วยเหลือนักเรียนที่รับมือได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราได้นำเสนอเคสการช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบการการเรียนจากสถานการณ์โควิดทำให้เกิดความเครียดจนคิดสั้นที่จะฆ่าตัวตาย แต่เราได้มีวิธีการช่วยเหลือ จนในที่สุดเด็กกลับมามีความสุขในชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งหลายประเทศได้นำตัวอย่างการแก้ปัญหาของเราไปปรับใช้กับประเทศตัวเองด้วย” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว