สพฐ. จับมือ เชียงราย เขต 3 เคลื่อนการอ่านปูพื้นปฐมวัย-ประถมต้น ยกระดับ PISA แผนระยะยาวร่วมกับโครงการพัฒนาดอยตุง

วันที่ 26 มีนาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานพัฒนาการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโรงเรียนในพื้นที่ข้างเคียงขยายผลการพัฒนา ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting โดยมี คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นายวิเศษ เชยกระรินทร์ ผอ.สพป.เชียงราย เขต 3 ศึกษานิเทศก์ พร้อมบุคลากร สพป.เชียงราย เขต 3 และนายสมเจตน์ พันธ์พรม ผอ.ศูนย์ PISA สพฐ. เข้าร่วมการประชุม

โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้ให้แนวทางการดำเนินการต่อที่ประชุม โดยกล่าวว่า จากการรายงานผลการดำเนินการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนในสังกัด สพป.เชียงราย เขต 3 พบว่าดีขึ้น จึงให้ ถอดบทเรียนโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ หรือมีผลการดำเนินการโดดเด่น เพื่อเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้นำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ และให้ศึกษานิเทศก์ ของ สพป.เชียงราย เขต 3 สังเคราะห์เครื่องมือดังกล่าว ว่ามีส่วนใดที่ต้องนำไปวัดผลตาม 771 ตัวชี้วัดองค์รวมหลักสูตรแกนกลางฯ และจากกลุ่มโรงเรียนที่นำเครื่องมือไปใช้ควรเพิ่มเติมอะไรเพื่อได้ตามตัวชี้วัดองค์รวมตามมาตรฐาน เพื่อรองรับการพัฒนาระยะยาวการอ่าน คิดวิเคราะห์ จับประเด็น เป็นเหตุเป็นผล ความรู้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน และสื่อสารได้อย่างเข้าใจ เป็นการยกระดับในการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางการประเมิน PISA รวมไปถึงการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาเน้นให้เกิดคุณภาพและดึงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่เพื่อนักเรียน โดยการ PLC กลุ่ม ผอ.โรงเรียนที่นำเครื่องมือฯ ไปใช้ในการเรียนการสอนประสบความสำเร็จ มา Coaching ร่วมกัน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มโรงเรียนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และให้ สพป.เชียงราย เขต 3 จัดทำ Time line ปฏิทินการทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ มีการติดตามภาพการดำเนินการเป็นระยะ และติดตามผลการดำเนินการในภาพรวมทางการพัฒนาทักษะการอ่านภาษาไทยของเด็กในพื้นที่ดอยตุง เพื่อให้โรงเรียนกลุ่มดอยตุง เป็น best practice ขยายผลให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่ได้ เป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษา และตอบโจทย์การพัฒนาตามแผน PISA ที่กระทรวงศึกษากำหนด

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือแนวทางการพัฒนาเครื่องมือการสอนภาษาไทยให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยการนำเครื่องมือ DI และการใช้ “มอนเตสเซอรี่” โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เสนอแนวทางการพัฒนาในหลายข้อ อาทิ ให้โรงเรียนคัดกรองผลการเรียนวิชาภาษาไทย ตั้งแต่ชั้น ป.1-6 เพื่อนำมาวิเคราะห์การพัฒนาภาษาไทยในโรงเรียนของ สพฐ. โดยการพัฒนาภาษาไทยของชั้น ป.1-3 ให้เน้นพัฒนาการเขียนของนักเรียนเพิ่มขึ้น ส่วนชั้น ป.4-6 จากที่ได้รับข้อมูลแนวทางของสถาบันภาษาไทยสิรินธร พบว่าเด็กบางคนยังอ่านไม่ได้ จึงมาทำเป็นหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม และร่วมมือกับ สพท. ให้ครูออกแบบการสอน โดยใช้เครื่องมือที่พัฒนาผลออกมาจากการสะท้อนของครู ทั้งนี้ จากผลคะแนน O-NET ปี 2565 ผลการทดสอบภาษาไทยพบว่าโรงเรียนในพื้นที่ ทั้งหมด 39 โรงเรียน ผ่านเกณฑ์เฉลี่ยระดับประเทศ คิดเป็นร้อยละ 3.6 และผ่านระดับ 50% ขึ้นไป มีจำนวน 19% สะท้อนผลจากครูในโรงเรียนที่นำเครื่องมือนี้ให้เด็กฝึกอ่าน ขอให้วางแผนการต่อยอดไปกับเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษาเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาและ รองรับการสอบ PISA ตามแผนการพัฒนา PISA ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด พร้อมทั้งกำหนดการจัดทำ KPI สำหรับประเมินตัวชี้วัดต้นทาง ปลายทาง เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าในระหว่างเรียนจะพัฒนาเด็กอย่างไร และเด็กจะประสบความสำเร็จตาม KPI ที่กำหนดไว้หรือไม่ เพื่อยกระดับการศึกษาของไทยทั้งระบบ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ต้องการเห็นเด็กไทยได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค ทั่วถึงและเท่าเทียมในทุกพื้นที่ ด้วยแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ให้คุณภาพเกิดขึ้นกับผู้เรียนอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว