สพฐ. จับมือ อาชีวะฯ ขับเคลื่อนหลักสูตรทวิศึกษาแนวใหม่ สร้างโอกาส เสริมทักษะวิชาชีพ มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ

วันที่ 28 มีนาคม 2567 นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจการจัดการศึกษาร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2562 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษาแนวใหม่) ณ โรงแรมเดอะ พาลาสโซ รัชดา กรุงเทพมหานคร

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2567 โดยสำนักบริหารการมัธยมศึกษา สพฐ. ซึ่งได้เชิญบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ข้าราชการบำนาญ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบการดำเนินงานโครงการฯ และผู้เข้าร่วมประชุมจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 299 คน เพื่อบูรณาการจัดทำเล่มคู่มือแนวทางการดำเนินโครงการส่งเสริมการศึกษาร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ทวิศึกษาแนวใหม่) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อให้สถานศึกษาที่สังกัด สพฐ. มีแนวทางในการบริหารการจัดการศึกษา สามารถวิเคราะห์และกำหนดแนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา กระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ และมีวิธีการติดตามประเมินผลที่ชัดเจน สามารถนำผลการติดตามมาวิเคราะห์สรุปสภาพปัญหาและอุปสรรคระหว่างการดำเนินโครงการ เพื่อปรับปรุง แก้ไข และปรับวิธีการดำเนินงานให้สอดคล้องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการส่งเสริมการศึกษาร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ทวิศึกษาแนวใหม่) เป็นการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และจากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าการบริหารจัดการในประเด็นเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนการจัดการเรียนการสอนยังมีความเข้าใจตรงกันไม่ชัดเจนในสาระสำคัญของระเบียบ ประกาศ และแนวปฏิบัติของการจัดการศึกษา ในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดความร่วมมือกันในทุกมิติ ในหลายๆ ด้าน จึงต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานโครงการฯ โดยเฉพาะในเรื่องการให้ความสำคัญของการจัดการศึกษา วัตถุประสงค์ของการจัดการการศึกษา กลุ่มเป้าหมาย/ บทบาทหน้าที่ และการเตรียมความพร้อมก่อนการจัดการศึกษา การจัดโครงสร้างหลักสูตร การจัดแผนการเรียนร่วมหลักสูตร การวัดและประเมินผล การเทียบโอน การติดตามและประเมินผลหลังการจัดการเรียนการสอน และสิ่งสำคัญคือการสนับสนุนงบประมาณจาก สพฐ. ให้กับโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่จัดการศึกษาทวิศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 114 โรงเรียน

“การจัดการศึกษาแบบทวิศึกษานี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีทางเลือกในการศึกษามากขึ้น ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาในทุกระดับ ทั้งนี้ ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาร่วมหลักสูตร (ทวิศึกษาแนวใหม่) และหวังว่าทุกท่านจะมีความเข้าใจในแนวทางการบริหารการจัดการศึกษาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถนำแนวทางไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทในแต่ละพื้นที่ ในการส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ รวมถึงขยายกลุ่มเป้าหมายในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะทางด้านวิชาชีพ เสริมสร้างการมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าว