สพฐ. พัฒนาศึกษานิเทศก์ยุคใหม่ ใช้โปรแกรมนิเทศ online ประมวลผลแบบ Anywhere Anytime

วันที่ 28 เมษายน 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์สำหรับศึกษานิเทศก์ (Application Development for Supervisor) ผ่านระบบประชุมออนไลน์ Zoom Meeting เพื่อพัฒนาศึกษานิเทศก์ให้สามารถใช้งาน Google AppSheet และ Google Looker Studio ได้จริง ผ่านตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับงานด้านนิเทศการศึกษา โดยมี นางรวิภัทร เหล่าคุ้ม ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. พร้อมด้วยศึกษานิเทศก์ จำนวน 50 คน รวมถึงทีมวิทยากร ดร.ศุภธิดา พรมพยัคฆ์ CEO&FOUNDER นายพุธรักษ์ มุลเมือง CHIEF OF TECHNOLOGY นายชวิน สระบัว TRAINER และคณะทำงานส่วนกลางของ สพฐ. เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมเบลล่า บี จ.นนทบุรี

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ตามข้อสั่งการของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ ที่ให้ความใส่ใจนักเรียนในเรื่องของการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ สพฐ. โดยหน่วยศึกษานิเทศก์ ในการขับเคลื่อนการนิเทศออนไลน์ เพื่อเข้าสู่การเรียนรู้ของนักเรียนแบบ Anywhere Anytime ต่อยอดเกิดการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์สำหรับศึกษานิเทศก์ (Application Development for Supervisor) โดยทีมศึกษานิเทศก์และคณะทำงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานในยุคนี้ คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน เพื่อการร่นระยะเวลา การประมวลผลที่ถูกต้อง นักเรียนสามารถเข้าถึงประโยชน์ได้สูงสุด ดังนั้นการนำนโยบายต่าง ๆ ลงสู่ห้องเรียน และให้เข้าถึงนักเรียนได้มากที่สุด บุคคลสำคัญที่สุด คือ “ศึกษานิเทศก์” ซึ่งเปรียบเสมือนครูของครู เป็นผู้ที่จะถ่ายทอดแนวทาง การแนะนำ การให้คำปรึกษา เพื่อเติมเต็ม ต่อยอดให้ครูได้รับการพัฒนาและขับเคลื่อนการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การขับเคลื่อน Anywhere Anytime อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ดังนี้

1. Active Learning ถือเป็นผลงานเชิงประจักษ์ที่โดดเด่น ทุกห้องเรียนมีกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางฯ ครบถ้วนตามมาตรฐานการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดหลัก  771 ตัว ที่เป็นร่องรอยหลักฐานและองค์ประกอบตัวชี้วัดที่เป็นองค์รวม จากเดิม 2,000 กว่าตัวชี้วัด การใช้ Application Development for Supervisor เข้ามาต่อยอดขับเคลื่อนกระบวนการ จะช่วยให้งานเกิดประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมากมาย

2. การนำนักเรียนทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน เป็นห้องเรียนบูรณาการรายวิชา สิ่งที่ปรับเปลี่ยนสะท้อนผลดีกลับมาจากการชัดเจนในการปฏิบัติ การบริหารจัดการนำหลักสูตรไปใช้ต่อยอดจากกระบวนการ Active Learning เพื่อให้นักเรียนสามารถเกิดการประยุกต์ (Apply) นำไปสู่การสร้างสรรค์ (Create) และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดจากการบ่มเพาะที่เกิดจากความยั่งยืนต่อไปในอนาคตจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งต้องอาศัยการถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติที่ดีจากศึกษานิเทศก์เช่นกัน

3.การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย กระบวนการเรียนรู้นี้ต้องเริ่มพัฒนาจากห้องเรียนที่ต้องมีความยืดหยุ่น บุคคลที่จะมองภาพรวมการพัฒนาในพื้นที่ และการเติมเต็มในบริบทของแต่ละโรงเรียนได้ดีคือศึกษานิเทศก์ ซึ่งการปรับเปลี่ยนส่งเสริมตามบริบทเปรียบเสมือนแพลตฟอร์มให้กับทุกๆ โรงเรียน เป็นการปลดรั้วโรงเรียน ลดช่องว่าง (GAP) ความต่างเติมความรู้ เติมสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับแต่ละโรงเรียนตามบริบทของพื้นที่

“สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ทุกๆ การพัฒนา เป็นการส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ สอดคล้องตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. โดยการนำของ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เพื่อให้เกิดคุณภาพในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ดังนั้น ขอให้นำ Application Development for Supervisor ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ซึ่งเชื่อมั่นว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วโดยศึกษานิเทศก์ ซึ่งเป็นผู้มองเห็นภาพการปฏิบัติ ช่วยคุณครูได้ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คน ขับเคลื่อนการดำเนินการนี้ได้อย่างสำเร็จลุล่วง เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกพื้นที่ ให้นักเรียนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว