สพฐ. ชื่นชมแม่ฮ่องสอน สพม.ขนาดเล็ก แต่เปี่ยมคุณภาพ สร้างสมรรถนะนักเรียน-ครู ไม่แพ้จังหวัดอื่น

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เข้าเยี่ยมให้กำลังใจผู้บริหาร ครู และบุคลากร โรงเรียนปายวิทยาคาร พร้อมทั้งประชุมมอบแนวทางในการดำเนินงานตามนโยบายฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา แก่ผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา สพม.แม่ฮ่องสอน โดยมี ผอ.สพม. รอง ผอ.สพม. ผอ.รร.ปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ ผอ.รร.ห้องสอนศึกษาในพระอุปถัมภ์ฯ ผอ.รร.ขุนยวมวิทยา ผอ.รร.แม่ลาน้อยดรุณสิกข์ ผอ.รร.แม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” ผอ.รร.เฉลิมรัชวิทยาคม รวมถึงผู้บริหาร ครู และบุคลากร โรงเรียนปายวิทยาคาร เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมธนี พหลโยธิน โรงเรียนปายวิทยาคาร อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน

.

โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของ สพม.แม่ฮ่องสอน ว่าเป็นเขตพื้นที่ “จิ๋วแต่แจ๋ว” กล่าวคือ แม้ว่าจะเป็นเขตพื้นที่การศึกษาที่มีขนาดเล็ก อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีนักเรียนพักนอนทุกโรงเรียน มีข้อจำกัดด้านบุคลากรและทรัพยากรอื่นๆ แต่สามารถสร้างคุณภาพให้เกิดกับผู้เรียน ครูและสถานศึกษาได้อย่างน่าประทับใจ และมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นระหว่างปีการศึกษา 2564-2567 ทั้ง 8 โรงเรียนรวมกันมากกว่าหลักร้อยทุกปี เช่น โรงเรียนขุนยวมวิทยา มีนักเรียนเพิ่มขึ้น 220 คน มีนักเรียนที่สามารถสอบติดคณะแพทย์ได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงเรียนเป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีนักเรียนสอบติดโรงเรียนนายสิบจำนวน 8 คน จากเดิมที่เคยสอบได้ปีละไม่กี่คน และสอบติดโรงเรียนทหารเรือ 1 คน / โรงเรียนห้องสอนศึกษาในพระอุปถัมภ์ฯ มีนักเรียนเพิ่มขึ้น 170 คน มีผลงานชนะเลิศการประกวดการนำเสนอสร้างสำนึกพลเมือง (Project Citizen) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 / โรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” มีนักเรียนเพิ่มขึ้น 109 คน ได้รับรางวัลชนะเลิศ สาขาเกษตรแบบยั่งยืน จากโครงการประกวดทักษะการพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศ ด้วยผลงาน “โรงเรือนเอื้องแซะ” เป็นนวัตกรรมต้นแบบสำหรับการศึกษาและเรียนรู้ธรรมชาติของพรรณไม้หายาก / โรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ มีนักเรียนเพิ่มขึ้น 35 คน ได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม“ ระดับภูมิภาค / โรงเรียนเฉลิมรัชวิทยาคม มีนักเรียนเพิ่มขึ้น 86 คน ได้รับรางวัลโรงเรียนที่มีการปฏิบัติงานด้านการเงินการบัญชีของสถานศึกษา ระดับดีมาก ประจำปีงบประมาณ 2566 / โรงเรียนแม่ลาน้อยดรุณสิกข์ มีนักเรียนเพิ่มขึ้น 28 คน มีผลงานชนะเลิศการประกวดการแข่งขันพูดภาษาอังกฤษ (Impromptu Speech) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ระดับประเทศ และเป็นโรงเรียนต้นแบบศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา / โรงเรียนสบเมยวิทยาคม มีนักเรียนเพิ่มขึ้น 15 คน ได้รับการประเมินเป็นโรงเรียนต้นแบบสหกรณ์ระดับประเทศ รางวัลเยาวชนต้นแบบ สพฐ. และโรงเรียนปายวิทยาคาร มีนักเรียนเพิ่มขึ้น 235 คน เป็นโรงเรียนที่ได้รับการเผยแพร่ต่อยอดการดำเนินการโครงการทหารพันธุ์ดี ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย จากกองทัพบก รวมทั้ง 8 โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้เรียน ความห่างไกลทุรกันดารในการคมนาคม แต่ด้วยความมุ่งมั่นเอาใจใส่ของผู้บริหารจึงมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาของแม่ฮ่องสอนได้อย่างดี

.

นอกจากนี้ จากการขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2566 ขอให้ผู้บริหารและครูทุกคนจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีที่หลากหลายให้เข้าถึงใจนักเรียน ไปให้ถึงสมรรถนะสำคัญทั้ง 5 ด้านของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 (ปรับปรุง 2560) โดยให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปสู่การประยุกต์ (Apply) และต่อยอดไปถึงการสร้างสรรค์ (Create) ซึ่งการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระ จะทำให้นักเรียนเข้าใจและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่าย ขอให้ช่วยกันคิดว่าสิ่งไหนที่เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนต่อนักเรียน การที่ครูทุกคนทุ่มเทการสอนจากตำราและสอนทุกบรรทัด อาจจะยังไม่เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อการที่เด็กจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็กจดจำได้ คือ เขาสามารถเอาอะไรไปใช้ได้บ้างในทักษะที่เขามีส่วนร่วมและปฏิบัติ และรู้ว่ากำลังดำเนินการอย่างไร เพราะเด็กจะจำได้หากนำความรู้ที่ได้ประมวลผลออกไปผ่านท่าทางหรือการสื่อสารแบบมีกระบวนการที่กลั่นจากการคิด วิเคราะห์ และเชื่อมโยงต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบนั่นเอง

.

“สพม.แม่ฮ่องสอน แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์ว่าถึงแม้จะเป็นเขตพื้นที่ขนาดเล็ก แต่ด้วยการบริหารจัดการที่ดี ก็สามารถสร้างคุณภาพให้เกิดกับนักเรียน ครู และสถานศึกษาได้ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. นำโดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ต้องการให้เกิดคุณภาพในสถานศึกษาทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกโรงเรียนซึ่งทำผลงานได้ดีอยู่แล้ว ขอให้ทุกโรงเรียนดำเนินการบูรณาการกิจกรรมของกลุ่มสาระการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ที่เป็นองค์รวมของทุกสมรรถนะ เน้นให้ครูได้สอนทักษะและการนำไปใช้ จนสามารถนำไปวิเคราะห์และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง และใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดเวทีให้นักเรียนได้แสดงความสามารถตามความถนัดและความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาเพิ่มเติม ขอให้ครูตระหนักเสมอว่า เมื่อสอนแล้วเด็กจะได้เรียนรู้สิ่งใด และสถานศึกษาต้องบริหารหลักสูตรตามบริบทของตนเองเพื่อให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพสูงสุดแก่เด็กในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว