รมว.ศธ. แนะใช้ รร.จุฬาภรณฯ เป็นต้นแบบพัฒนาการศึกษา

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดงาน “10 ปี การพัฒนาต่อยอดโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยตามอุดมการณ์” โดยมี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน Mr.Nashida Kazuya เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย Mr.Taha Macpherson เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประจำประเทศไทย ผู้บริหาร ครู และนักเรียน เข้าร่วมงาน

รมว.ศธ. กล่าวว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยพัฒนาเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์เต็มรูปแบบ ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 10 ปี และเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำกลุ่มหนึ่งของประเทศไทย ด้วยคุณภาพทัดเทียมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ ส่งผลให้สามารถพัฒนาและปลูกฝังนักเรียนให้มีความพร้อมไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา มุ่งสู่การเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักคิดค้นนวัตกรรม ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความสามารถสร้างองค์ความรู้ให้กับประเทศชาติและสังคมไทยในอนาคต และจากการที่ได้เห็นความสำเร็จที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องท้าทายว่าเราจะยกระดับการเรียนการสอนให้แข็งแรงมากกว่าเดิมได้อย่างไร เพราะนักเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ เป็นนักเรียนที่มีความสามารถในระดับต้นๆ ของประเทศ และจะนำมาต่อยอดทำผลประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างไร ผู้บริหาร ครูและผูเกี่ยวข้องทุกคนต้องนึกถึงโรงเรียนอื่นเนื่องจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมมากกว่าโรงเรียนอื่น ดังนั้นหากสามารถแบ่งปันความพร้อมนี้ให้กับโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของประเทศมากขึ้นเช่นกัน

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ความสำเร็จทางด้านการศึกษาต้องใช้เวลาโดยเฉพาะในการศึกษาที่มีความเข้มข้นในเรื่องของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ ได้รับการวางแผนไว้เป็นอย่างดี และต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลปัจจุบันก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้น เพราะนั่นหมายถึงแนวทางของอนาคตโลกซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องใช้การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันหวังว่าผลสำเร็จที่ผ่านมาจะเป็นต้นแบบของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ และขยายผลไปจนถึงโรงเรียนทั่วไปซึ่งเป็นพื้นฐานการบริหารจัดการในโรงเรียนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการสร้างระเบียบวินัยให้กับนักเรียนด้วย นอกจากนี้จากการดูข้อมูลในเบื้องต้นอาจมีความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องมาพิจารณาในส่วนของงบประมาณที่จะสามารถจัดสรรเพื่อขยายผลได้เพราะเรามีสิ่งสำคัญคือต้องไม่หยุดพัฒนาทางด้านการศึกษา