สพฐ. สานพลังแกนนำ PISA ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ 78 เขต พร้อมลุยยกมาตรฐานการศึกษาโรงเรียนขยายโอกาส

วันที่ 28 เมษายน 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษการอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการพัฒนาศักยภาพครูเพื่อจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) รุ่นที่ 2 ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีนายสมเจตน์ พันธ์พรม ผู้อำนวยการศูนย์ PISA สพฐ. กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้เข้าอบรม ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ ผู้รับผิดชอบงาน PISA ครูแกนนำ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการอ่าน ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านคณิตศาสตร์ จาก 78 เขตพื้นที่การศึกษา และมีผู้เข้าร่วมจากอาชีวศึกษาภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 9 คน และสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายประถมฯ และมัธยมฯ) 2 คน สาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน 1 คน รวมถึงผู้สังเกตการณ์และคณะทำงานจาก สนก. สบว. ศูนย์ PISA สสวท. และผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งสิ้น 351 คน เข้าร่วม ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพมหานคร

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาภายใต้แนวทาง “เรียนดี มีความสุข” และนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระยะเร่งด่วน (Quick Win) ที่ต้องการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกมิติ และเตรียมความพร้อมในการประเมิน PISA สำหรับนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ถึง 6,855 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้จัดทำแผนดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาและเครื่องมือชุดฝึกกิจกรรมในการยกระดับตามแนวทาง PISA 2025 ที่ต้องการให้นักเรียนทุกคนได้พัฒนากระบวนการอ่าน คิดวิเคราะห์ จับประเด็น เชื่อมโยง และถ่ายทอดอย่างรู้เรื่อง บนพื้นฐานที่เป็นเหตุเป็นผล ในการส่งเสริมด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ให้เป็นวิถีในการค้นหาความรู้และต่อยอดองค์ความรู้ที่สูงขึ้นตามความถนัดและสนใจของนักเรียนต่อไปแบบมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ

สำหรับแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนานักเรียนสู่การเรียนการสอนในระยะสั้นนี้ ได้มีการพัฒนาสื่อที่ใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียน รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือประเมินความฉลาดรู้ ทั้ง 3 ด้าน ทั้งในรูปแบบของ Paper-based testing และ Computer-based testing เพื่อใช้ในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนขยายโอกาส และสร้างความคุ้นชินเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์โดยใช้ข้อสอบตามแนวทาง PISA มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการคิด วิเคราะห์ จับประเด็น เชื่อมโยงสถานการณ์ต่างๆ นำความรู้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนสามารถสื่อสารและถ่ายทอดได้อย่างรู้เรื่อง บนพื้นฐานของเหตุและผลได้ ซึ่งการอบรมครั้งนี้ นับได้ว่า เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพศึกษานิเทศก์และครูในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมทักษะสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียน ตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) สามารถเป็นวิทยากรประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และขับเคลื่อนขยายผลการนำชุดฝึกไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้

“การส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. โดยการนำของ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยทั้งระบบ การร่วมมือร่วมใจนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติจึงมีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่ง ในโอกาสนี้ต้องขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่ให้ความอนุเคราะห์ในองค์ความรู้ของ PISA มาโดยตลอด รวมถึงคณะวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา และศูนย์ PISA สพฐ. และผู้เข้าร่วมอบรมทุกคน ทั้งศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานด้านการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) และคุณครูจากโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ที่ได้ร่วมกันสานพลังเพื่อส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทาง PISA ทั้งนี้ ขอให้ทุกท่านตระหนักว่าคุณภาพการศึกษาของประเทศอยู่ในมือของพวกเราทุกคน ให้มองว่าทุกห้องเรียนจะไม่มีการเหลื่อมล้ำ แต่ทุกห้องเรียนได้รับการเพิ่มเติมเต็มจนเกิดคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งต้องขอบคุณทุกคนในความตั้งใจ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

สำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้วิทยากรแกนนำได้ทราบนโยบายการขับเคลื่อนลงสู่การปฏิบัติ มีเครื่องมือในการขับเคลื่อนในระดับเขตพื้นที่และระดับสถานศึกษา เข้าถึงห้องเรียน และสามารถขยายผลการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้และหลังจากอบรมจะได้เครื่องมือ สื่อ ในการขยายผลการอบรมระดับเขตพื้นที่ รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนในระดับเขตพื้นที่และระดับสถานศึกษาอีกด้วย โดยการอบรมแบ่งออกเป็น การพัฒนาวิทยากรแกนนำพี่เลี้ยงระดับมัธยมศึกษา ฯ ด้วยครูแกนนำของศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ พร้อมด้วยวิทยากรพี่เลี้ยง รวม 400 คน ซึ่งดำเนินการไปแล้วตามแผนการขับเคลื่อน และการพัฒนาวิทยากรแกนนำระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เพื่อขยายผลและขับเคลื่อนในโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งมีจุดการพัฒนาตามภูมิภาค จำนวน 3 จุด ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 1,000 คน โดยจุดภาคเหนือได้ดำเนินการแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ กิจกรรมการอบรมประกอบด้วย 1.ความสำคัญของโครงการ PISA และภาพรวมของกิจกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมิน PISA โดย ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมิน PISA 2.การจัดทำแผนงานการดำเนินการของแต่ละเขตพื้นที่  เนื้อหาการอบรม แบบฝึกทักษะ ระบบข้อสอบออนไลน์ PISA สพฐ. สสวท. โดย สพฐ. และ สสวท. 3.แนวทางการใช้กิจกรรมการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะตามแนว PISA 3 ด้าน คือ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านคณิตศาสตร์ 4.แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ ด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ โดย สพฐ. 5.แนวทางการนำแบบทดสอบ PISA ไปใช้ในการวัดผลและประเมินผลผู้เรียน ในระดับชั้นเรียนเพื่อพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ และปฏิบัติการในการนำแบบทดสอบไปใช้วัดผลประเมินผลผู้เรียนให้สอดคล้องกับตัวชี้วัด โดย สพฐ. และ 6.แผนการขับเคลื่อนในระดับเขตพื้นที่ และการจัดทำแผนปฏิบัติการนำชุดแบบฝึกไปใช้ในสถานศึกษา รวมถึงแผนการดำเนินการให้นักเรียนคุ้นชินกับระบบการทำแบบทดสอบแบบ Computer-Based