สพฐ. ลงพื้นที่ติดตามโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Active Learning จ.สุราษฎร์ธานี

วันที่ 3 กันยายน 2562 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามการขับเคลื่อนโครงการตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Active Learning ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กิจกรรมของโรงเรียนต้นแบบลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Active Learning ที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดขั้นสูง การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้:Active Learning เป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาลที่ใช้เป็นแนวทางการปฏิรูปการศึกษา อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเตรียมผู้เรียนให้พร้อมเข้าสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งครูต้องใช้ความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีทักษะการคิดขั้นสูง การแก้ปัญหา รู้จักการทำงานเป็นทีม รู้จักการปรับตัวมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มีความรู้ความสามารถตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และที่สำคัญ ต้องพัฒนาผู้เรียนให้ค้นหาศักยภาพและความชอบของตนเอง

สพฐ. ได้ดำเนินการตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” อย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาการจัดกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ให้เชื่อมโยงกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีแนวทางในการจัดกิจกรรมโดยยึด ๗ หลักการสำคัญ ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตร 2.เน้นการพัฒนา ๔H (Head พัฒนาสมอง การคิดวิเคราะห์ Heart พัฒนาจิตใจ Hand พัฒนาทักษะการปฏิบัติ และ Health พัฒนาสุขภาพ) 3. กิจกรรมที่จัดให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ตอบสนองความสนใจ และความถนัด 4. เปิดโอกาสให้นักเรียนได้วางแผน เกิดทักษะการคิดขั้นสูง 5. มีการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสามัคคี และเรียนรู้ความเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี 6. มีการใช้แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการใช้เทคโนโลยี และ 7. ประเมินผลตามสภาพจริงเน้นการประเมินการปฏิบัติและคุณลักษณะ

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่ติดตามโครงการในวันนี้ ณ โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 สังกัด สพม. เขต 11 ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Active Learning ระดับ สพฐ. ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี ทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา มีการขับเคลื่อนนโยบายตามแนวทางของ สพฐ. โดยใช้วิธีการ Active Learning เพื่อพัฒนากระบวนการคิด การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง และเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งนอกจากการลงพื้นที่เพื่อติดตามและรับทราบผลการดำเนินงานแล้ว สพฐ.ยังมีการติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 225 เขต เป็นผู้รายงานผลอีกด้วย

“การดำเนินงานโครงการนี้ เรามุ่งเน้นให้นักเรียนมีความสุข ผู้ปกครองมีความสุข และครูมีความสุข
การจัดกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จะจัดช่วงเวลาใดก็ได้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา โดยให้นักเรียนเรียนในห้องเรียนน้อยลง เรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น และไม่กระทบเนื้อหาหลักที่นักเรียนต้องเรียนรู้ ครูปรับการเรียนการสอน บรรยาย อธิบายความรู้ให้น้อยลง ให้นักเรียนมีเวลาการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ปฏิบัติจริง (Active Learning) มากขึ้น และกิจกรรมต้องสร้างสรรค์และหลากหลาย ซึ่งการที่นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติหรือลงมือทำ ทำให้นักเรียนมีความรู้ที่ยั่งยืนมากกว่าที่นักเรียนเรียนแบบฟังเพียงอย่างเดียว” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

อัจฉรา ข่าว