วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างอาคารเรียนโรงเรียนสองพี่น้อง พร้อมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการจัดการศึกษาแก่สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ณ โรงเรียนสองพี่น้อง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 โรงเรียนสองพี่น้องวิทยา และโรงเรียนบางลี่วิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 9 . โดยช่วงเช้า ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร (รมช.ศธ.) เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์เปิดอาคารเรียนโรงเรียนสองพี่น้อง เพื่อทดแทนอาคารเรียนหลังเก่าที่ชำรุดเนื่องจากสร้างมาเป็นเวลานานกว่า 48 ปี ซึ่งทำให้นักเรียนได้มีอาคารที่พอเพียงในการเรียนการสอน และต่อมาได้เดินทางไปยังโรงเรียนสองพี่น้องวิทยา เพื่อรับชมการแสดงดนตรีไทยของนักเรียน พร้อมรับฟังการดําเนินงานการจัดการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งภายหลังการรับฟัง รมช.ศธ. ได้มอบนโยบายทางการศึกษา และแนวทางในการดำเนินการของรัฐบาล เช่น โครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School” โดยการร่วมมือกับเอกชน และชุมชน จะทำให้โรงเรียนพัฒนาได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จากนั้นได้ร่วมพูดคุยกับนักเรียนพร้อมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก อีกทั้งมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่โรงเรียน พร้อมเดินตรวจเยี่ยมบ้านพักครูที่มีการชำรุดจากการใช้งานเป็นเวลานาน และได้สั่งการให้ เลขาธิการ กพฐ. ดำเนินการหางบประมาณมาปรับปรุงบ้านพักครู เพื่อให้ครูได้ที่พักที่ดี ซึ่งจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูอีกด้วย .
ในช่วงบ่าย รมช.ศธ. ได้เดินทางต่อไปยังโรงเรียนบางลี่วิทยา เพื่อมอบนโยบายการจัดการศึกษาให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดย รมช.ศธ. กล่าวในการมอบนโยบายมีใจความว่า ปัจจัยที่ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องเร่งปรับตัว คือ การที่เด็กเปลี่ยน Generation ซึ่งเรียกว่า Generation Z หรือ Gen Z โดยเด็กในยุคนี้ เป็นเด็กที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี ทำให้กระบวนการเรียนรู้ของเด็กเปลี่ยนไป อีกทั้งองค์ความรู้ที่ครูได้รับเมื่อเวลาผ่านไป 5-6 ปี ก็จะล้าสมัย ดังนั้นครูจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อให้ทันกับเด็ก และเพื่อให้เด็กในยุคนี้ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ครูจึงต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอน หมั่นตั้งคำถามเด็ก เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้ฝึกคิด และสามารถวิเคราะห์ได้ โดยให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์จริง สถานที่จริง จากสถานประกอบการ หรือชุมชน จนเด็กสามารถบูรณาการการเรียนรู้สู่การสร้างนวัตกรรมต่อไปได้ พร้อมทั้งจะต้องทำให้เด็กสามารถค้นพบตัวตนของตนเองให้ได้ สร้างแรงบันดาลใจในกับเด็ก โดยเน้นทักษะชีวิต และทักษะอาชีพเป็นสำคัญ เพื่อที่เด็กจะได้นำไปประกอบอาชีพใน อนาคตต่อไป
ภาพ-บรรจง/ข่าว-ฐิติมา