ศธ. เดินหน้าเปิดศูนย์ “HCEC” พัฒนาศักยภาพรายบุคคลต้นแบบ เพิ่มศักยภาพแรงงานสู่ความเป็นเลิศทัดเทียมสากล

วันที่ 19 กันยายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) ต้นแบบ เพื่อเป็นศูนย์กลางการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียน-เอกชนในระดับภูมิภาค พร้อมพัฒนาศักยภาพบุคคลสู่การเป็นทุนมนุษย์ที่มีความเป็นเลิศตามมาตรฐานสากล โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. นางอาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (ศบศ.) และผู้สนใจเข้าร่วมในพิธี รวมกว่า 250 คน ณ หอประชุมคุณหญิงบุญเจือ โรงเรียนสตรีวิทยา 2 กรุงเทพมหานคร

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้จัดเตรียมกลไกขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่ยุคใหม่ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะใช้ระบบการศึกษาให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) สู่ความเป็นเลิศ โดยมุ่งเน้นให้กระบวนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการต้อง “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” เพื่อรองรับการปฏิรูปทางการศึกษาตามแผนงานการศึกษายกกําลังสอง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการนำภาคเอกชนมามีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมการพัฒนากำลังคนในทุกมิติ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานที่ภาคเอกชนต้องการ เป็นการเรียนกับมืออาชีพเพื่อให้ได้ศักยภาพแรงงานที่เป็นเลิศอย่างแท้จริง รวมทั้งตั้งเป้าหมายให้ศูนย์ HCEC เป็นศูนย์กลางในการเพิ่มขีดความสามารถของทุนมนุษย์ เพื่อปฏิรูปการศึกษาสู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

HCEC มีเป้าหมายหลักในการช่วยให้ระบบการศึกษาดีขึ้น ด้วยการพัฒนาวิชาชีพครู และทำงานร่วมกับวิทยาลัยอาชีวะในการพัฒนาวิชาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นศูนย์พัฒนาศักยภาพในเขตพื้นที่การศึกษาที่สอนและจัดอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน ทั้งแบบออนไลน์และแบบห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ในเขตพื้นที่การศึกษาที่สอนและจัดอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา โดยศูนย์ HCEC จะจัดตั้งขึ้นภายในโรงเรียนและวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ตามแผนงานที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้วางนโยบายในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 185 ศูนย์ และในวิทยาลัยอาชีวะ 100 ศูนย์ภายในปี 2564

นายณัฏฐพล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้แบ่งกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์ HCEC ภายในโรงเรียน เป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จำนวน 82 ศูนย์ และระยะที่ 2 จำนวน 103 ศูนย์ โดยใช้ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (English Resources Information Center : ERIC) เดิม ที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนประจำจังหวัดและโรงเรียนประจำอำเภอเป็นที่ตั้งของศูนย์ ภายใต้วัตถุประสงค์ที่จะผลักดันให้ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) เป็นศูนย์กลางในการอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (Training Center) แบบออนไลน์และแบบห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) รวมถึงการอบรมพัฒนาด้านอื่นๆ ของทุกจังหวัด เป็นศูนย์กลางในการทดสอบสมรรถภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา (Testing Center) วัดระดับความสามารถและทักษะด้านต่างๆ ตามสมรรถนะที่ สพฐ. กำหนด อาทิ การทดสอบทักษะด้านภาษาอังกฤษ (English Literacy) และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ซึ่งถือว่าเป็นทักษะพื้นฐานในมาตรฐานวิชาชีพครู รวมถึงทักษะอื่นๆ ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 และยังทำหน้าที่เป็นศูนย์ในการตรวจสอบรับรองคุณสมบัติการออกใบประกาศนียบัตรในรูปแบบออนไลน์ (E-Certification) การตรวจสอบรับรองคุณสมบัติเพื่อใช้ในการต่อใบประกอบวิชาชีพครู (Teacher License) ครอบคลุมถึงการตรวจสอบรับรองคุณสมบัติด้านการส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพ และให้มีวิทยฐานะสูงขึ้น

กระทรวงศึกษาธิการเชื่อมั่นว่ากลไกขับเคลื่อนทั้งหมดที่กล่าวมา จะนำไปสู่ความเป็นเลิศของผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาไทยทั้งระบบ เพราะเมื่อการศึกษากลายเป็นระบบนิเวศโดยสมบูรณ์ ด้วยการเชื่อมต่อผ่าน HCEC, DEEP และเปลี่ยนวิธีการวัดผลด้วย EIDP ทั้งนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา จะสามารถประสบความสำเร็จได้ในแบบฉบับของตนเอง และจะนำพาให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีฐานทุนมนุษย์ที่เป็นเลิศอย่างแท้จริง โดยคาดหวังว่าในระยะสั้น ระบบการศึกษาที่ดีจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่น และความแตกต่าง สร้างความน่าสนใจให้ประเทศต่างๆ อยากมาลงทุนมากขึ้น ในระยะกลางทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ และในระยะยาวหากเกิดปัญหาหรือสถานการณ์วิกฤตขึ้น ประเทศไทยจะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวและมีความสามารถในการฟื้นตัวได้ดีอย่างแน่นอน

“จากยุทธศาสตร์แผนงานการศึกษายกกำลังสองที่ได้มอบหมายนโยบายให้กับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปเรียบร้อยแล้วนั้น ทำให้เราเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปการศึกษาไทยทั้งระบบในทุกๆ มิติ จะสามารถพัฒนาและเป็นแรงผลักดันให้บุคลากรแรงงานของไทยมีทักษะและศักยภาพที่ตอบโจทย์กับความต้องการของภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 นี้ได้อย่างแน่นอน” รมว.ศธ. กล่าว

ศนท.สพฐ. / ภาพ:รายงาน