ศธ. เดินหน้าผนึกกำลังร่วมหน่วยงานรัฐและภาคีเครือข่ายภาคเอกชน หารือมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียนนักศึกษาถูกล่วงละเมิด

จากวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานของศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ศคพ.) กระทรวงศึกษาธิการ “รวดเร็ว รอบคอบ เด็ดขาด” ซึ่งเป็นนโยบายของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)  ที่ว่า “โรงเรียนเป็นสถานศึกษาที่ให้ความรู้และพัฒนาคนและ เปรียบเสมือนบ้านที่ให้ความอบอุ่น และความปลอดภัย“ ศคพ. จึงได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคีเครือข่ายภาคเอกชน โดยเน้นประเด็นการหารือมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียนนักศึกษาถูกล่วงละเมิด ในวันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563  ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2

โดยมีนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดประชุมและกล่าวถึงความสำคัญของการทำงานของ ศคพ. ว่าจะต้องเป็นไปอย่าง รวดเร็ว รอบคอบ และ เด็ดขาด  รวมถึงการปรับเปลี่ยนบทบาทเพิ่มเติมหน้าที่ในการดูแลเรื่องการละเมิดสิทธิเด็กด้านอื่นๆอีกด้วย

จากนั้น ดร.เกศทิพย์  ศุภวานิช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ผช.ปศธ.) ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานฯ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการประชุม ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ได้แก่ องค์กรยูนิเซฟ, มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี , มูลนิธิศานติวัฒนธรรม, มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและเครือข่ายสิทธิเด็กแห่งประเทศไทย, มูลนิธิเพื่อนหญิง, มูลนิธิแพธ ทู เฮลท์, มูลนิธิเอ-ทเวนตี้วัน, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รองศึกษาธิการ ภาค 7 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 18 , ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 และทีมงานของกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาวิเคราะห์ประเด็นต่างๆจากข้อเสนอแนะ ที่ได้รับจากทุกหน่วยงาน และระดมความคิดเพิ่มเติมทุกประเด็นจากข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ปฏิบัติจริงและใกล้ชิดนักเรียนจากภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อนำข้อสรุปที่ได้ไปดำเนินการเพื่อจัดทำแนวทางการปฏิบัติของนักเรียน ครู ผู้อำนวยการ ผู้ปกครอง กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อการปฏิบัติที่นำไปสู่การป้องกัน ปราบปรามและเยียวยา อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ต่อไป

การดำเนินงานครั้งนี้เป็นการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเชิงประจักษ์ เป็นการจัดระบบการทำงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น ในกรณีที่เกิดกรณีล่วงละเมิดทางเพศกับนักเรียน ผู้เกี่ยวข้องทุกคน รวมถึงตัวเด็กนักเรียนเองจะรู้ว่าต้องทำอย่างไร  ทั้งนี้ มูลนิธิ องค์กร และหน่วยงานต่างๆ มีข้อเสนอแนะในที่ประชุม ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานของ ศคพ.  ดังนี้

⁃ นโยบายปกป้องคุ้มครองเด็กของ สพฐ. ควรขยายให้ครอบคลุมเรื่องการล่วงละเมิดทุกรูปแบบ

⁃ ควรเพิ่มเติมด้านการประชาสัมพันธ์ ศคพ. ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ศูนย์ร้องทุกข์ สายด่วนต่างๆ ควรมีหมายเลขเดียวและจะต้องเป็นหมายเลขที่จำได้ง่าย เพื่อไม่ให้เด็กนักเรียนสับสน และติดต่อได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง

⁃ ควรมีทีมงานดูแลช่องทางในการติดต่อรับเรื่องร้องทุกข์โดยเฉพาะ ผู้รับเรื่องร้องทุกข์จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ และมีความรู้ด้านจิตวิทยาเพราะเป็นด่านแรกในการรับความทุกข์จากเด็กที่ประสบเหตุ

⁃ การช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนจะต้องมีความชัดเจน และควรมีการสนับสนุนด้านงบประมาณเรื่องการเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบ

⁃ เสนอแนะ ศคพ.ร่วมมือกับ “ศูนย์คืนขวัญ” ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อช่วยเหลือด้านการบำบัดบาดแผลทางใจให้นักเรียนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและให้คำแนะนำหรือการจัดอบรมแก่สถานศึกษาและครูในเรื่องดังกล่าว

⁃ ควรมีระบบคัดกรองครูต่างชาติที่ชัดเจนและเข้มข้น เพื่อป้องกันปัญหาครูต่างชาติที่มีพฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรง หรือล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียน หนีจากประเทศของตนเอง เข้ามาทำงานในประเทศไทย

⁃ สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ควรจัดการประชุมโรงเรียนในสังกัด เป็นระยะเพื่อเก็บข้อมูลนักเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กร มูลนิธิต่างๆ จะได้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนได้

⁃ นอกจาก ศคพ. มีแผนงาน โครงการเป้าหมาย การติดตามและการประเมินผลที่ชัดเจนแล้ว ควรเพิ่มเติมเรื่องการหนุนเสริมและสนับสนุนให้มีการป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศด้วย

⁃ ขอให้ ศธ. กำหนดว่าหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่โดยตรงในการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ

⁃ ดำเนินการจัดทำ Reporting Application ซึ่งเด็กนักเรียนจะสามารถแจ้งเหตุได้ใน Online Application ทันที

⁃ แต่ละจังหวัดมีการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง ศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ

⁃ ควรมีนโยบายคุ้มครองเด็กของ ศธ. ประกาศใช้ โดยเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกฝ่าย

⁃ การเยียวยา จะต้องมีการดำเนินการที่เป็นระบบ และต้องควบคู่ไปกับการป้องกัน

⁃ ควรมีการให้ความรู้นักเรียน ควบคู่ไปกับการสอนเรื่องการป้องกันตนเอง

⁃ ควรมีการจัดประชุมครูแนะแนวทั่วประเทศ ให้มีความรู้ไปถ่ายทอดนักเรียน เมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ จะทำอย่างไร บอกใคร

⁃ ต้องมีการกำหนด Safe Zone ในโรงเรียน และควรมีกล้องวงจรปิด เพื่อเป็นหลักฐานหากมีการกระทำผิด

⁃ ครูจะต้องไม่อยู่กับนักเรียนเพียงลำพังสองคน

⁃ ควรตั้งคณะทำงาน ตามประเด็นต่างๆ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินงาน เช่น คณะทำงานเรื่องช่องทางร้องเรียน      เป็นต้น

หลังการประชุมได้มีการแบ่งงานเพื่อให้คณะทำงาน เร่งหาข้อมูลด้านกฎหมาย จรรยาบรรณ จริยธรรม ของคุรุสภา ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการเยียวยาโดยเฉพาะ ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กช่วงปฐมวัย ครอบครัวและชุมชน ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก ประเภทของการล่วงละเมิดทางเพศ และโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิที่เข้าร่วมประชุม ดำเนินการกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อต่อยอดพัฒนาให้สอดคล้อง กับการดำเนินงานของ ศคพ.

นายชนะ  สุ่มมาตย์ กรรมการและเลขานุการ ศคพ. กล่าวว่าคณะทำงานฯ จะเร่งนำผลจากสิ่งที่มีอยู่และสิ่งที่ได้เพิ่มจากการประชุมเพื่อขับเคลื่อน ดำเนินการจัดทำร่างมาตรการการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียนนักศึกษาที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ตามวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอ คณะกรรมการ ศคพ. เพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป

ศนท.สพฐ. / ภาพ:รายงาน