29 ต.ค.63 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบนโยบายในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ณ ศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. นายสนิท แย้มเกษร นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมประชุม
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ซึ่งผู้ที่จะทำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้คือผู้บริหารทุกท่านต้องเป็นแกนนำพัฒนาการศึกษาของประเทศ หากอยากให้การศึกษาทัดเทียมกับนานาชาติต้องปลดล็อคสิ่งที่กีดขวางการพัฒนาการศึกษาให้ได้ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด เปิดกว้างรับสิ่งใหม่และต้องอาศัยความร่วมมือกันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ต้องทำคือการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องมีความจริงจังที่จะควบรวมให้มากที่สุดและเร็วที่สุด การทำเช่นนี้ให้มองในทางที่ดีแม้จะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ต้องทำให้ได้เพราะเราไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขณะเดียวกัน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา จะต้องเป็นผู้รู้ดีที่สุดว่าจะควบรวมโรงเรียนอย่างไร
ทั้งนี้ มีหลักของการควบรวมโรงเรียนอยู่ที่ 1 ต่อ 2 แต่อยากให้ทำมากกว่านั้น เพื่อให้โรงเรียนมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ โรงเรียนประจำจังหวัด หรือโรงเรียนชั้นนำที่มีขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง ทำให้นักเรียนเกิดค่านิยมที่จะขวนขวายมาเรียน ดังนั้นถ้าหากว่าสามารถทำให้โรงเรียนมัธยมอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไปมีคุณภาพมากขึ้น ก็เชื่อว่าเด็กจะมีทางเลือกที่มากขึ้นไม่ทำให้เกิดความแออัด เพราะความแออัดจะส่งผลให้คุณภาพการศึกษาลดลงตามไปด้วย จึงมีความต้องการให้โรงเรียนขนาดใหญ่มีการลดขนาดลง เพราะมีเหตุผลหลายประการ เช่น จำนวนนักเรียนของโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียน 3,000 – 4,000 คน อาจส่งผลต่อการบริหารจัดการ และถ้าจำนวนนักเรียนอยู่ที่ 1,500 – 2,000 จะทำให้สามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าเดิม รวมถึงการเน้นให้เด็กไปเรียนสายอาชีวะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากเปลี่ยนแปลงแล้วสามารถทำให้โรงเรียนมีคุณภาพมากขึ้น เด็กก็ไม่ต้องเข้ามาเรียนในเมืองทั้งยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำได้อีกด้วย
ศนท.สพฐ. / ภาพ:รายงาน