เลขาธิการ กพฐ. ตรวจสนามสอบ ม.4 รร.เตรียมอุดมศึกษา

วันที่ 6 มีนาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ตรวจเยี่ยมสนามสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2564 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมี นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 ดร.วรรณดี นาคสุขปาน ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะกรรมการจาก สพฐ. ร่วมตรวจสนามสอบด้วย

นายอัมพร พินะสา เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประจำปีการศึกษา 2564 ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยปีนี้มีนักเรียนมาสมัครสอบจำนวน 12,765 คนจากทั่วประเทศ จำนวนนักเรียนที่รับ 1,520 คน คิดเป็นอัตราเฉลี่ย 1:12 แบ่งเป็น แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ รับ 1,000 คน ภาษา-คณิตศาสตร์ รับ 120 คน ภาษา-ฝรั่งเศส รับ 80 คน ภาษา-เยอรมัน รับ 80 คน ภาษา-ญี่ปุ่น รับ 80 คน ภาษา-จีน รับ 80 คน ภาษา-สเปน รับ 40 คน และภาษา-เกาหลี รับ 40 คน โดยมีสัดส่วนยอดผู้สมัครแผนการเรียนสูงสุดได้แก่ แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ สมัคร 8,948 คน และ ภาษา-คณิตศาสตร์ สมัคร 1,040 คน ทั้งนี้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จะประกาศผลการสอบคัดเลือก ในวันที่ 12 มีนาคม 2564

สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในการจัดสอบครั้งนี้นั้น ทางโรงเรียนได้วางแผนเตรียมการในขั้นตอนการสมัครออนไลน์ โดยแยกกลุ่มนักเรียนและกำหนดเลขประจำตัวผู้เข้าสอบ และกำหนดมาตรการแต่ละจังหวัดเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ผู้เข้าสอบจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 1 จังหวัด คือ สมุทรสาคร จำนวน 33 คน จะมีการจัดรถรับส่งจากสระน้ำเมืองทองธานีตรงเข้าห้องสอบโดยตรง ซึ่งเป็นห้องสอบและห้องน้ำเฉพาะนักเรียนกลุ่มนี้ ที่ Hall 4 ขณะที่จังหวัดพื้นที่ควบคุม 8 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ตาก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม จำนวน 8,107 คน ให้แยกสอบที่ Hall 4 และจังหวัดพื้นที่เฝ้าระวังสูง 14 จังหวัด รวมถึงจังหวัดพื้นที่เฝ้าระวัง 54 จังหวัด จำนวน 4,625 คน ให้แยกสอบที่ Hall 5-8 โดยทั้งหมดจัดห้องสอบในอัตราส่วน 4 ตารางเมตร : 1 คน มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลไม่น้อยกว่า 1 เมตร

ทั้งนี้ได้จัดแบ่งห้องสอบตามกลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มนักเรียนที่เดินทางมาจากจังหวัดที่มีอัตราการควบคุมพื้นที่สูงให้แยกห้องสอบต่างหาก และปรับเวลาในการสอบให้เร็วขึ้นจากเดิม 08.30 -16.00 น. เป็น 08.30 – 14.00 น และไม่อนุญาตให้ออกนอกห้องสอบหลังจากเข้าสนามสอบแล้ว โดยโรงเรียนมีบริการอาหารว่างและเครื่องดื่มไว้ให้นักเรียนระหว่างการสอบ เพื่อลดการสัมผัสและรวมกลุ่มกัน นอกจากนั้นยังมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลกรุงเทพ ดูแลให้คำปรึกษาและวินิจฉัยสั่งการกรณีฉุกเฉิน พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ร่วมปฏิบัติการควบคุมดูแล มีรถพยาบาลสำรอง เพื่อการส่งต่อโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ในพื้นที่ และมีศูนย์ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่ผู้ปกครอง นักเรียน ครู เจ้าหน้าที่ และบุคคลภายนอก ในการให้ความร่วมมือตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19)

“โดยภาพรวมการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้เข้าสอบทุกคนให้ความร่วมมือในการตรวจคัดกรองเป็นอย่างดี โดยสนามสอบได้จัดเตรียมมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ที่เข้มงวด อีกทั้งการสอบครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร จ.นนทบุรี เข้ามาดูแลอำนวยความสะดวกด้านการจราจร รวมถึงเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี เข้ามาร่วมปฏิบัติการควบคุมดูแล คัดกรองวัดไข้นักเรียนที่เข้าสอบ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ศนท.สพฐ. / ภาพ:รายงาน