สพฐ. ร่วมพัฒนาคุณภาพวิทยาศาสตร์ภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ

วันที่ 11 มีนาคม 2564 นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมด้วยนายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมการพัฒนาคุณภาพวิทยาศาสตร์ภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพนักเรียนในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี พร้อมมอบนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพวิทยาศาสตร์ภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ณ โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพมหานคร

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รก.รมว.ศธ. กล่าวว่า ด้วยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระยะเวลา 10 ปี (ปีงบประมาณ 2564–2573) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนที่มีความสนใจพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในทุกพื้นที่ นำไปสู่การสร้างและพัฒนาบุคคลให้เป็นกำลังสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันกับนานาประเทศในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในการพัฒนาสมรรถนะนักเรียน (Competencies) ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ผ่านกระบวนการของหลักสูตร (Curriculum) และเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัย โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน (Peer Learning Network) ซึ่งจะส่งผลคุณูปการต่อการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย รวมถึงการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

“ทั้งนี้ มีเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งสิ้น 2,200 โรงเรียน ประกอบด้วย (1) โรงเรียนศูนย์ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพและมีศักยภาพเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จำนวน 200 โรงเรียน เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่โรงเรียนเครือข่าย แบ่งเป็น ระดับประถมศึกษา จำนวน 100 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษา จำนวน 100 โรงเรียน และ (2) โรงเรียนเครือข่าย จำนวน 2,000 โรงเรียน (1 โรงเรียนศูนย์ต่อ 10 โรงเรียนเครือข่าย) โดยแบ่งเป็นระดับประถมศึกษา จำนวน 1,000 โรงเรียน และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 1,000 โรงเรียน มุ่งเน้นการพัฒนาครูของโรงเรียนในโครงการ ที่จัดการเรียนรู้ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางของโครงการ จำนวน 22,000 คนต่อปี ตลอดจนนักศึกษาครูได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกวิชาชีพในโรงเรียนของโครงการอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ นักเรียนจะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพตามมาตรฐานโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ตลอดระยะเวลาของโครงการ จำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 700,000 คน” คุณหญิงกัลยา กล่าว