เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมเพื่อชี้แจงการส่งเสริม สนับสนุน ภารกิจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนขยายโอกาส สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วย นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นายพิศณุ ศรีพล ที่ปรึกษา สพฐ. นายไชยา กัญญาพันธุ์ที่ปรึกษา สพฐ. นายไพฑูรย์ จารุสาร ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย ร่วมชี้แจงในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทุกเขต จำนวน 185 เขต ผู้อำนวยการโรงเรียนขยายโอกาส สังกัด สพฐ. จำนวน 6,970 โรงเรียน และบุคลากร สมป. เข้าร่วมการประชุม ผ่านทางระบบห้องประชุมออนไลน์ ZOOM Meeting
นายอัมพร พินะสา กล่าวว่า ได้จัดการประชุมในวันนี้เพื่อชี้แจงการส่งเสริม สนับสนุน ภารกิจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนขยายโอกาส สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมอบหมายภารกิจให้สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย ดูแลการจัดการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนขยายโอกาส ให้สามารถขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ข้อ 11 การเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความจำเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ สอดคล้องกับวาระเร่งด่วน (Quick Win) วาระที่ 5 ในด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยส่งเสริมการจัดการศึกษาที่เน้นพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนั้น ยังสอดคล้องกับนโยบายของ สพฐ. ในเรื่องการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเสริมทักษะอาชีพ เป็นการส่งเสริมให้โรงเรียนขยายโอกาสได้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ
“วันนี้เราอยู่ในสภาวะที่ลำบากเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงต้องกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนโรงเรียนขยายโอกาสไปสู่อนาคต โดยเรามีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ 2 ช่วง คือช่วงก่อนมัธยมศึกษา และช่วงมัธยมศึกษา ซึ่งมีโรงเรียนใน 3 ลักษณะ คือ 1. โรงเรียนมัธยมในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 2. โรงเรียนมัธยมที่อยู่สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) และ 3. โรงเรียนมัธยมที่อยู่ภายในโรงเรียนประถมศึกษา หรือเรียกว่าโรงเรียนขยายโอกาส โดยเรามีความห่วงใยในเรื่องการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่ถึง 100 คน เพราะเราควรจะส่งเสริมโอกาสให้กับนักเรียนมากกว่าตัดโอกาสที่เขาควรจะได้รับ จึงมีความคิดที่จะนำโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็กมารวมกับโรงเรียนมัธยมในกลุ่ม สพม. เพื่อให้เกิดการบูรณาการการจัดการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม แต่จะยังคงเน้นในด้านการเรียนรู้ทักษะวิชาชีพ ในบริบทความต้องการและความพร้อมของนักเรียน พร้อมกับมีครูและผู้ปกครองเป็นพี่เลี้ยง ช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะวิชาชีพ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ. เดินหน้าเรียนดีมีความสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 36/2567 - 10 กันยายน 2024
- สพฐ. ประชุมคณะทำงานบริหารจัดการโรงเรียนภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี - 9 กันยายน 2024
- สพฐ. หารือแนวทางและมาตรการช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู กับคณะผู้บริหารธนาคารออมสิน - 9 กันยายน 2024