++++ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผอ.สพค.) และผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ณ จังหวัดเชียงราย . ในช่วงเช้า นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ได้เดินทางไปที่โรงเรียนบ้านรวมมิตร ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1-4 ศึกษานิเทศก์ ครูวิทยากร ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูผู้สอนปฐมวัย ให้การต้อนรับ ในการนี้ รมว.ศธ. ได้ตรวจเยี่ยมกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 และ 3 โดยได้ร่วมทำกิจกรรมไปพร้อมกับเด็ก ๆ ในโครงงานการเรียนรู้เกี่ยวกับสับปะรด ซึ่ง รมว.ศธ. กล่าวว่า เราจะต้องปล่อยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเขาเองจากประสบการณ์จริง เพราะการท่องจำจากหนังสือทำให้เด็กไม่มีประสบการณ์ในการเรียนรู้ เมื่อเจอคำถามหรือปัญหา จะไม่สามารถตอบและวิเคราะห์เพื่อแก้ไขได้ เหมือนกับ สับปะรด ถ้าดูแต่ในภาพหรือท่องจำมา เมื่อเด็กเจอกับสับปะรดจริงก็จะไม่สามารถบอกได้ว่านี่คือสับปะรด หรือรู้แต่สีผิวภายนอกไม่รู้ว่าเนื้อภายในสับปะรดเป็นสีอะไร รสชาติอย่างไร ดังนั้นจึงต้องให้เขาได้ลงมือสัมผัส ตรวจสอบ และพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตัวเอง จึงจะเกิดองค์ความรู้ที่แท้จริงได้ .
ต่อมาในช่วงบ่ายได้เดินทางมายังโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย เพื่อรับฟังรายงานสรุปและผลการดำเนินงานศูนย์ขยายผลโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ในระดับประถมศึกษา โดยมี ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36 ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเชียงราย และคณะครู ให้การต้อนรับ . โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปลูกฝังให้เด็กปฐมวัยสนใจวิทยาศาสตร์ และขยายผลต่อไปยังระดับประถมศึกษาให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ด้านการมีส่วนร่วมในสังคม และจิตอาสาให้กับนักเรียน โดยมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 12 แห่ง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้กับโรงเรียนในโครงการ ฯ ผ่านกิจกรรม ต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาครูปฐมวัยให้สามารถจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ แบบ Hand – on ตามปรัชญาการเรียนรู้ของโครงการ (Co-Construction และ Meta-Cognition) การสร้างสรรค์สื่อการเรียนการสอนให้กับครู วิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น และเครือข่ายท้องถิ่น การจัดทำกิจกรรมสร้างความตระหนักให้ผู้ปกครองและครอบครัว และการเสาะหา “นักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง” ให้แก่โรงเรียน . ในการนี้ รมว.ศธ. ได้เยี่ยมชมโครงงานของนักเรียน พร้อมกล่าวชื่นชมและให้กำลังใจกับนักเรียนที่ได้รับรางวัลในโครงงานต่าง ๆ อีกทั้งยังกล่าวชื่นชมการดำเนินงานของโรงเรียน เรื่องผลของการสอบ PISA ซึ่งนักเรียนสามารถทำคะแนนสอบออกมาได้ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีผลเฉลี่ยอยู่ที่ 550 คะแนน . รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า เชื่อมั่นในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน โดยเมื่อมีผลงานออกมาดีก็ต้องเป็นผู้ให้กลับคืน ซึ่งตนได้เห็นแล้วจากการเข้ามาดูแลในส่วนของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย พร้อมมอบหมายให้ทางโรงเรียนเป็นศูนย์นำในการจัดการเรียนรู้เรื่อง Cloud Computing ต่อไป
ภาพ/บรรจง ตั้งคำ
ข่าว/ฐิติมา ชาลีกุล