วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ลงพื้นที่นิเทศติดตามเชิงประจักษ์ โดยมี ดร.สุทธิดล พุทธรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ (ผอ.สพม.เชียงใหม่) ดร.ปริศนา วรรณารักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ (รองผอ.สพม.เชียงใหม่) นายณัฏฐยศ ป่าหลวง ผู้อำนวยการโรงเรียนเชียงดาววิทยาคม และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สพม.เชียงใหม่ คณะครู นักเรียน ให้การต้อนรับ และนำเสนอการดำเนินงานโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) การนิเทศ ติดตามเชิงประจักษ์ เพื่อให้เห็นสภาพจริงการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ณ โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะและสามารถนำองค์ความรู้มาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้ภายในโรงเรียน โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับความร่วมมือจากศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน จำนวนเงิน 1,200,000 บาท โดยรูปแบบการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการประกอบด้วย 5 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 รู้จักพื้นที่ (Area based research)
ระยะที่ 2 เรียนรู้วางแผน (Coding for Farm)
ระยะที่ 3 ริเริ่มปฏิบัติการ (Implementation)
ระยะที่ 4 รวบรวมพัฒนา (Development)
ระยะที่ 5 ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขยายผล (Sharing)
สำหรับการนิเทศ ติดตามเชิงประจักษ์ในครั้งนี้ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจของ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (รมช.ศธ.) และคณะทำงานโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ทุกท่าน ในการนำเสนอความก้าวหน้า และผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามโครงการฯ ดังกล่าว ที่เน้นการสร้างองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน เข้ามาใช้ประโยชน์ ในภาคการเกษตร ซึ่งสามารถขยายผลไปสู่ชุมชน โดยครูผู้สอนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา ประกอบด้วย การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาการคำนวณ Coding For Farm มาใช้ในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักเรียนในภาคการเกษตร
ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคการเกษตร จะช่วยตรวจสอบปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการตรวจวัดปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างแม่นยำแล้ว จะส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้นและมีคุณภาพ ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อนักเรียนเกิดองค์ความรู้ ก็สามารถจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจ หรือสามารถต่อยอดไปถึงชุมชน โดยทางโครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากทางภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมการดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming)
ทั้งนี้ การนิเทศ ติดตามเชิงประจักษ์โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ณ โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สังกัด สพม.เชียงใหม่ ในครั้งนี้ เป็นตัวอย่างที่สำคัญอันหนึ่งของโครงการที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า และผลสัมฤทธิ์ของโครงการ โดยในอนาคต ทาง สพฐ. จะดำเนินการขยายผลไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่การผลักดัน ให้เกิดการยกระดับกระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าภาคการเกษตร
ด้านคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (รมช.ศธ.) กล่าวชื่นชมความสำเร็จอันเป็นรูปธรรมของโรงเรียนเชียงดาววิทยาคมโดยเฉพาะโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน Smart Intensive Farming ที่ทำได้อย่างน่าประทับใจ ในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชนที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เกิดประโยชน์ได้ ซึ่งการทำแบบนี้ได้ต้องมีการลงพื้นที่ศึกษาสังคม ภูมิศาสตร์ รู้ความต้องการของตลาดแล้วนำมาวางแผนจนประสบความสำเร็จ ถือเป็นโครงการที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่เคยตรวจราชการมาถือเป็นแบบอย่างที่ดี
ภาพ/ข่าว : ศน.ปฏิภาณ โรจน์รุ่ง
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” เข้าเฝ้าฯ ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันนวมินทรมหาราช พุทธศักราช 2567 - 13 ตุลาคม 2024
- รมว.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจราชการออกเยี่ยมโรงเรียน และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ในพื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี - 8 ตุลาคม 2024
- สพฐ. ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และกรอบเนื้อหาแบบเรียนภาษาจีน สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. - 7 ตุลาคม 2024