เลขาธิการ กพฐ. เปิดการอบรมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลวิทยาการคำนวณ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562  เวลา 09.00น. ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านการใช้ Digital ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม (วิทยาการคำนวณ) “Human capital develoment in  Digital Technology for innovation to improve quality of life and drive Thailand’s future economy” ณ โรงแรมเมย์ฟลาวเวอร์ แกรนด์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก จัดโดยสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดภาคเหนือ 18 แห่ง มีนายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพิษณุโลก ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด แห่งประเทศไทย เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดว่า ทางสมาคมเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทุนมนุษย์และการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ ที่เป็นเนื้อหาสาระใหม่ที่ครูผู้สอนทุกคนควรต้องเรียนรู้ จึงเป็นการนำร่องการอบรมให้กับครูผู้สอนวิทยาการคำนวณก่อน ต่อจากการนั้นจะเป็นการขยายผลไปสู่ครูผู้สอนทุกคน ให้ได้รับทราบถึงความสำคัญ ของการพัฒนาทุนมนุษย์และการบูรณาการวิทยาการคำนวณไปสู่ทุกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่อไป ผู้เข้ารับการอบรมมาจากกลุ่มโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดภาคเหนือ โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดภาคใต้  ภาคตะวันออกและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโรงเรียนเครือข่ายร่วมพัฒนาวิชาการ จำนวน 100 คน จัดอบรมระหว่างวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2562 ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรผู้ทรงความรู้และมีประสบการณ์ตรงจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงจาก Asia pacific Micro : bit Education Foundation ร่วมพบปะกับผู้เข้ารับการอบรม  อีกทั้งได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก / สุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียงร่วมพิธีเปิดและให้การต้อนรับ

หลังจากพิธีเปิดการอบรม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บรรยายพิเศษเกี่ยวกับ แนวคิดวิทยาการคำนวณ แก่ผู้เข้ารับการอบรมความว่า วิชาวิทยาการคำนวณ (Computing science) เป็นวิชาใหม่ ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งจะเริ่มต้นใน 4 ชั้นเรียนก่อน คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในเดือนพฤษภาคม ปีการศึกษา 2561 ในปีต่อไปก็จะเริ่มต้นใน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2563 ก็จะเริ่ม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

ขอบเขตของวิชาวิทยาการคำนวณ ประกอบด้วย 3 องค์ความรู้ ได้แก่

  1. การคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) คือ เข้าใจและเรียนรู้วิธีคิดและแก้ปัญหาเชิงวิเคราะห์ มีลำดับวิธีคิด ซึ่งนอกจากการเรียนการเขียนโปรแกรมแล้ว หัวใจที่สำคัญกว่า คือ สอนให้เราเชื่อมโยงปัญหาต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาได้
  2. ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม (digital technology) ทั้งเทคนิควิธีการต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลในยุค 4.0 และเป็นทางเลือกในการบูรณาการเข้ากับวิชาอื่นได้ด้วย
  3. รู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล (media and information literacy) คือ แยกแยะได้ว่าข้อมูลไหนเป็นจริงหรือหลอกลวง รู้กฎหมายและลิขสิทธิ์ต่าง ๆ บนโลกไซเบอร์ เพื่อให้ใช้งานกันได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

ซึ่งการคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) เป็นทักษะวิธีการคิดและแก้ปัญหาเชิงวิเคราะห์ ที่เป็นหัวใจสำคัญทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและมีลำดับวิธีคิดและเชื่อมโยงปัญหาต่างๆเป็น จนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบนั่นเอง

โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายแนวคิดวิทยาการคำนวณสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดอบรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทั่วประเทศ และศึกษานิเทศก์แบบ face to face        ต่อด้วยการอบรมผู้บริหารสถานศึกษาทุกโรงเรียน ผ่านระบบทางไกล หลังจากนั้นให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ครูทุกคน