สพฐ. นำนร.ทุน KOSEN เข้ารับโอวาทจาก รมว.ศธ. ในโอกาสลาไปศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น

นายอัมพร พินะสา รองเลขาธิการ กพฐ. นำคณะนักเรียนทุนรัฐบาลกระทรวงศึกษาธิการเข้าเยี่ยมคารวะและรับโอวาทจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) เพื่อลาศึกษาต่อ ณ สถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ประจำปีการศึกษา 2562 (รุ่นที่ 2) จำนวน 12 คน ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ  วันที่ 4 มีนาคม 2562

นายอัมพร กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการทุนศึกษาต่อสำหรับนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ไปศึกษาต่อ ณ National Institute of Technology หรือสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเชี่ยวชาญพิเศษ จำนวน 2 รุ่น เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 โดยส่งนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไปศึกษาต่อในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ตามระบบ KOSEN ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 5 ปี และศึกษาต่อระดับ Advanced course ในสถาบัน KOSEN อีก 2 ปี ซึ่งเทียบเท่าระดับปริญญาตรีเพื่อกลับมาปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐบาลไทย . การศึกษาระบบ KOSEN เน้นการบูรณาการคณิตศาสตร์ชั้นสูงกับทฤษฎีและการปฏิบัติด้านวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะเป็นวิศวกรที่มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติและมีความรู้ด้านทฤษฎี เป็นนักวิจัยที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ตรงตามความต้องการของบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำ และเป็นที่ยอมรับในญี่ปุ่นว่ามีความรู้ความสามารถที่สูงกว่าวิศวกรที่สำเร็จจากหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ทั่วไป โดยลักษณะของการศึกษาในระบบ KOSEN จะเป็นการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ 5 ปี ที่ย่นระยะเวลาจากการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์แบบปกติ 7 ปี (ม.ปลาย 3 ปี และ มหาวิทยาลัย 4 ปี) โดยรับนักเรียนอายุ 15 ปี (จบชั้น ม.3) ที่เก่งด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าเรียนในหลักสูตรปกติ หลังจากจบหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ 5 ปีแล้ว จะได้รับคุณวุฒิอนุปริญญาเฉพาะทาง ด้านวิศวกรรมศาสตร์ สามารถทำงานหรือเรียนต่อ Advanced course อีก 2 ปีจนได้รับคุณวุฒิปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ และเรียนต่อระดับปริญญาโทและเอกได้ . สำหรับการเรียนการสอนจะมีความเข้มข้นในเนื้อหาขั้นสูง เน้นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ การฝึกปฏิบัติการ การฝึกฝนทักษะวิศวกรรมปฏิบัติทางอุตสาหกรรม และการวิจัยนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและสังคม เพื่อสร้างวิศวกรนวัตกรรมในการทำหน้าที่เป็นหมอทางสังคม (Social doctors) โดยมีคณาจารย์มากกว่า 80% จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกหรือขั้นสูงสุดตามสาขาวิชาที่สอนและทำวิจัย คณาจารย์มากกว่า 50% มีตำแหน่งศาสตราจารย์ และคณาจารย์มากกว่า 30% มีประสบการณ์ทำงานจากภาคอุตสาหกรรมและเป็นนักวิจัย รวมถึงคณาจารย์ในสถาบัน KOSEN ได้รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกับคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยและสามารถทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้ เป็นสถาบันที่มีความร่วมมือกับอุตสาหกรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน .

ขณะที่ นายแพทย์ธีระเกียรติ กล่าวว่า “จะเห็นได้ว่าการศึกษาระบบ KOSEN มีความสำคัญและความจำเป็นสำหรับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ตามนโยบายการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่งได้กำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศ ให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงที่มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคสู่ความเป็นชาติการค้าและบริการ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรม First S-curve และ New S-curve รวม 10 ประเภท (อุตสาหกรรม 4.0) รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมดิจิทัล การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งในส่วนของพื้นที่ติดชายแดนและพื้นที่ไม่ติดชายแดน เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยต้องมีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์เพื่อนำไปขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นการศึกษาระบบ KOSEN จึงตอบโจทย์ต่อการพัฒนาประเทศไทยในปัจจุบัน” รมว.ศธ. กล่าว .

ทั้งนี้ นักเรียนทุนรุ่นที่ 2 จำนวน 12 คน ซึ่งจะเข้าศึกษาต่อในสถาบัน KOSEN ในเดือนเมษายน 2562 นี้ ได้แก่ เด็กชายต้นน้ำ เอี่ยมสอาด โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี และเด็กหญิงดวงพร ธัญญะโสภาคย์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี เข้าศึกษาต่อที่สถาบันโคเซ็น Hachinohe / เด็กชายอกฤษณ์ ชุดเจือจีน โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี และเด็กหญิงอัญรัตน์ สุจริต โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล เข้าศึกษาต่อที่สถาบันโคเซ็น Sendai / เด็กชายปิยเชษฐ์ พงศ์สันติชัย และเด็กชายธนภูมิ ศรีร่มโพธิ์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี เข้าศึกษาต่อที่สถาบันโคเซ็น Ibaraki / เด็กหญิงนภัทร เจริญนภารัตน์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก และเด็กหญิงฑิตยา ธัญญเจริญ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี เข้าศึกษาต่อที่สถาบันโคเซ็น Nagaoka / เด็กชายธิชานนท์ เขมวิรัตน์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี และนางสาวธนาภรณ์ ศรีปุงวิวัฒน์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก เข้าศึกษาต่อที่สถาบันโคเซ็น Akashi / เด็กชายปุณณ์ มานะกิจศิริสุทธิ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก และเด็กชายศักดิ์ดินันท์ วงศ์ศรีชา โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี เข้าศึกษาต่อที่สถาบันโคเซ็น Tsuyama.

ภาพ/บรรจง  ตั้งคำ

ข่าว/อัจฉรา ทั่งโม