วันที่ 3 มกราคม 2566 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย นายแพทย์มนัส รามเกียรติ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเตรียมการจัดงาน Kick off “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย” รูปแบบ on-site ณ โรงเรียนโพธิสารพิทยากร กรุงเทพมหานคร
ตามที่ รัฐบาลมีนโยบายให้มีการบูรณาการงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) สู่เป้าหมายหลัก “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และมีนโยบายข้อตกลงความร่วมมือ 12 กระทรวง โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ให้เป็นคนเก่ง ดี มีความรู้ และทักษะ คิดวิเคราะห์ รักการเรียนรู้ มีสำนึกพลเมืองดี กล้าหาญในทางจริยธรรม สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านสาธารณสุข สุขภาพกายแข็งแรง จิตใจดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมาย ในการพัฒนาเด็ก คือ เป้าหมาย 4 H ประกอบด้วย Head Hand Heart และ Health ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า เด็กไทยในบางพื้นที่มีระดับสติปัญญา (Intelligent Quotient : IQ) และมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient : EQ) ที่ควรได้รับการพัฒนา รวมถึงเกิดปัญหาด้านโภชนาการในเด็ก ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเด็กไทยมีภาวะเครียด ซึมเศร้า อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านการศึกษาและสาธารณสุข ที่ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการทำงานและดำเนินภารกิจตามบทบาทหน้าที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว และพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ โดยได้จัดทำโครงการ “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ” เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติเป็นประโยชน์ในการสร้างเสริมศักยภาพเด็กไทย ที่จะดำเนินการร่วมกันทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน โดยสร้างและปรับความรอบรู้ของนักเรียนผ่านการฝึกอบรมครูอนามัย ทั้งในระดับส่วนกลางส่วนภูมิภาค ให้ครูเป็น Coach สอนเด็กนักเรียน และเฝ้าระวังให้เด็กเกิดความปลอดภัย มีพฤติกรรมที่เหมาะสม นำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ทางด้านร่างกายและจิตใจต่อไป