เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นำทีมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นำโดย ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน กพฐ. และผู้บริหารของ สพฐ. ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนและดูบริบทการจัดการศึกษาในพื้นที่ตามสภาพความเป็นจริง ณ โรงเรียนผาขวางวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยกล่าวว่า วันนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมด้วยคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีสถานศึกษาหลากหลายรูปแบบ ทั้งโรงเรียนปกติ โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนการศึกษาพิเศษ โดยแบ่งสายผู้บริหารออกไปตรวจเยี่ยมเป็น 5 สาย ในพื้นที่ต่างๆ กัน เพื่อครอบคลุมสถานศึกษาทุกรูปแบบ
นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก เรามีความจำเป็นที่จะต้องคงไว้ถึงแม้นักเรียนมีน้อยก็ตาม เนื่องจากการเดินทางห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่เรากำหนดให้เป็นโรงเรียน stand alone และต้องการให้โรงเรียนเหล่านี้บริการเด็กชนเผ่าต่างๆ ซึ่งอยู่บริเวณชายขอบของประเทศไทย จากที่ได้มาวันนี้ก็จะชี้ให้เห็นว่าถึงแม้โรงเรียนเหล่านี้จะอยู่ห่างไกล แต่เขาต้องได้รับโอกาสและได้รับการเรียนรู้ไม่ต่างกับโรงเรียนที่อยู่ในเมือง สิ่งนี้คือเป้าหมายที่เราต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งนี้ เราจึงมุ่งไปที่รูปแบบโรงเรียนขยายโอกาส นอกจากนั้นก็เป็นรูปแบบที่ทำร่วมกับอาชีวะ และองค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม อย่างเช่นของอาชีวะเราก็จะมีหลักสูตรทวิศึกษาที่จะเข้ามาร่วมในส่วนนี้ ในส่วนบริบทอื่นๆ เราก็จะดูเรื่องที่พักนอน อาหารเช้า กลางวัน เย็น และบ้านพักครูที่พร้อมในการอยู่อาศัยของคุณครู นี่คือแนวทางที่ สพฐ. ต้องการ ดังนั้นเพื่อให้กำหนดเป็นนโยบายระยะยาวจึงได้เชิญ กพฐ. ที่เป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายให้ สพฐ. มาปฎิบัติ ได้รับทราบบริบทของพื้นที่ จึงได้มาตรวจเยี่ยมยังโรงเรียนแห่งนี้
“สำหรับการจัดการศึกษารูปแบบอื่นๆ ต้องเรียนว่า สพฐ. ในมิติใหม่ต้องมุ่งไปยังคุณภาพผู้เรียน โดยเราต้องการให้พื้นที่เป็นฐานและนวัตกรรมขับเคลื่อน ดังนั้นวิธีการเรียนการสอนต่างๆ จะต้องปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนหรือของชนเผ่า เชิงพื้นที่ หากเด็กเรียนจบตรงนี้แล้ว เราจะไม่มุ่งให้เด็กไปเรียนสายสามัญอย่างเดียว แต่ให้เขาได้เลือกประกอบอาชีพของตนเองให้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม ในส่วนวิชาประวัติศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ด้วยความที่มีหลากหลายชนเผ่า ประวัติศาสตร์แต่ละชนเผ่าก็แตกต่างกันไป ดังนั้นการเรียนประวัติศาสตร์แนวใหม่คือการเรียนประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัวและเป็นประวัติศาสตร์ที่นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เข้าใจปัจจุบัน และนำมากำหนดภาพในอนาคตได้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทางด้าน ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน กพฐ. กล่าวว่า สำหรับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน stand alone เราต้องดูจากพื้นฐานก่อน ซึ่งที่นี่มีธรรมชาติที่ดี มีป่าไม้ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นมีโอกาสที่จะเพาะปลูกสร้างผลิตภัณฑ์มากมาย ทางโรงเรียนควรส่งเสริมให้เด็กมีความรู้พื้นฐานที่สามารถสร้างความเจริญและพัฒนาตัวเองขึ้นไปได้ เช่น ทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงสังคม เข้าถึงความรู้ความพัฒนาในสิ่งที่เค้ามี ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์ เรื่องความเป็นอยู่ ในขณะเดียวกันพื้นที่นี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็จะมีเรื่องของธุรกิจบริการ การค้าขายในการนำสินค้าออกสู่ตลาดโลกหรือตลาดข้างนอก ต้องมีตัวกลางด้วย เช่น สื่อออนไลน์ ซึ่งเขามีทุนเดิมอยู่แล้ว ทางผู้อำนวยการโรงเรียนก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หน้าที่ของ สพฐ. ก็จะต้องส่งเสริม ติดอาวุธให้เขา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะส่งเสริมเกี่ยวกับการค้าขายทางอินเทอร์เน็ตออนไลน์ สิ่งที่ขาดอยู่คือระบบอินเทอร์เน็ตที่ดี ซึ่งเป็นตัวที่จำกัดศักยภาพในการเรียนรู้และนำสินค้าออกสู่ตลาดภายนอก ถ้าเราสามารถติดอาวุธเพิ่มเติมให้เขาได้ เช่น ติดระบบอินเทอร์เน็ตให้ดีขึ้น มีเครือข่ายชุมชนจากสังคมข้างนอกและข้างในร่วมกันสร้างความเข้มแข็ง ก็จะเป็นตัวชี้นำและชักจูงแนวทางในการพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้เข้มแข็งมากขึ้นโดยเร็ว ดังนั้นในการมุ่งเน้นอาจจะแตกต่างกับโรงเรียนในเมืองที่เน้นเรื่องวิชาการ เรื่องการสื่อสารต่างประเทศ แต่ที่นี่จะเน้นเรื่องมีพื้นฐานที่ชำนาญจากการหาข้อมูลจากโลกภายนอก นำสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ออกสู่ข้างนอก และดึงจากข้างนอกเข้ามาสู่ข้างใน เป็นเรื่องที่คิดว่าทั้ง สพฐ. และหน่วยงานเอกชนต่างๆ น่าจะมาร่วมกันพัฒนาโรงเรียนในลักษณะนี้ได้ หากองค์กรต่างๆ อยากจะทำเรื่องการช่วยเหลือสังคมในภาพกว้างมากขึ้น ก็สามารถใช้โรงเรียนเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีได้
“ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของ กพฐ. คือการยกระดับคุณภาพการศึกษา ยกระดับคุณภาพนักเรียนของเรา การที่มาเยี่ยมชมในครั้งนี้ก็จะเป็นตัวอย่างใน 5 สาย รวม 11 โรงเรียน เพื่อดูว่าในโรงเรียนต่างๆ ที่เรามีอยู่จะยกระดับคุณภาพของเขาได้อย่างไร ทั้งในเรื่องความพร้อมของสถานที่ ครู อาจารย์ ระบบ เครื่องมือต่างๆ เราก็เข้ามาดูตรงนี้และจะได้ประเมินเพื่อออกเป็นแนวปฏิบัติหรือนโยบาย และหาทางช่วยเหลือติดตั้ง เสริมอาวุธให้เขา เพื่อให้เขาสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษา การเรียนรู้ และคุณภาพคนให้ดีขึ้น หลังจากลงพื้นที่แต่ละสายก็จะดูว่ามีอะไรที่จะปรับปรุงได้ หรือสามารถยกระดับคุณภาพได้อย่างรวดเร็วและเป็นสิ่งที่โรงเรียนส่วนใหญ่เผชิญปัญหาที่คล้ายๆ กัน เพื่อนำมายกระดับคุณภาพได้อย่างทั่วถึง” ประธาน กพฐ. กล่าว
- สพฐ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการลูกเสือดิจิทัล เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน - 18 กรกฎาคม 2024
- สพฐ. ขับเคลื่อนการจัดการศึกษามัธยมศึกษาสู่ สพม. เครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษาจังหวัด และโรงเรียนมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2567 - 25 เมษายน 2024
- รองเลขาธิการ กพฐ. “ธีร์” ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 11 (11th Asia – Pacific Regional Scout Leaders Summit, 2024) - 24 เมษายน 2024