วันที่ 7 มกราคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นอกสถานที่ ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาตามบริบทของพื้นที่ จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาของโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย รวมถึงคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ด้วย
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า การประชุม กพฐ. นอกสถานที่ครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกหลังจากสถานการณ์โควิดที่บอร์ด กพฐ. ได้ลงพื้นที่ โดยเลือกจังหวัดเชียงราย ซึ่งทางบอร์ด กพฐ. เองเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในเรื่องระเบียบและแนวทางต่างๆ วันนี้ก็ได้มาเห็นสภาพในบริบทพื้นที่ต่างๆ แต่ละภาคของประเทศไทย ซึ่งเราได้มุ่งเน้นในเรื่องของนโยบายโรงเรียนคุณภาพ ทั้งในมิติของผู้เรียน ผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู และการพัฒนาครู รวมถึงการจัดประเมินคุณภาพให้มีความหลากหลาย เพราะในแต่ละพื้นที่ก็มีความต้องการในบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้นในเรื่องของการประเมินต่างๆ ก็ต้องมีช่องทาง การประเมินที่มีความหลากหลายขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของความต้องการของพื้นที่
.
“นอกจากนั้น ได้เน้นย้ำนโยบายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในสภาพพื้นที่ที่มีความหลากหลายและห่างไกล ซึ่งเราได้ดำเนินการไปบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพื่อให้เทคโนโลยีตัวนี้เป็นสื่อในการพัฒนาครู รวมถึงการเรียนการสอน ให้เข้าถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนเรื่องความปลอดภัยซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้มีการสร้างภาคีเครือข่ายมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะช่วยให้โรงเรียนมีเกราะป้องกัน ให้คุณครูและนักเรียนมีความปลอดภัยมากที่สุด” รมว.ศธ. กล่าว
ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า วันนี้ได้มาดูในเรื่องของทักษะอาชีพ เนื่องจากเด็กๆ ได้รับการดูแลในเรื่องของทักษะการทำอาชีพต่างๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ยังมีชมรมมาเปิดของขายและมีลูกค้า เป็นนักเรียนที่อยู่หอพักและผู้ปกครองที่มา ซึ่งเด็กๆ ต่างมีความสุขกับการที่ได้ขายของแล้วทำด้วยตนเอง พอขายของเสร็จก็เข้าสู่ระบบธนาคาร ถือได้ว่ามีการจัดระบบระเบียบของการเรียนรู้ได้ครบ รวมถึงอาหารที่เราไปดูก็มีความหลากหลาย แสดงให้เห็นว่าเด็กสามารถผลิตอาหารได้หลากหลายประเภท และยังมีอาชีพอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ความตั้งใจ ความทุ่มเทของเด็กๆ ที่เป็นคนดำเนินการ ในส่วนของการศึกษาพิเศษ หากดูจากส่วนใหญ่เด็กๆ จะเน้นไปทางสายอาชีพ แต่ยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ดึงศักยภาพได้จะเห็นว่าเด็กบางคนเก่งมาก มีจุดมุ่งหมายในการสอบเข้าคณะแพทย์รวมถึงการเรียน 4.00 เพราะฉะนั้นความแตกต่างในจุดนี้น่าจะต้องเติมเสริมเป็นรายบุคคลให้เกิดความเข้มแข็งของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป แต่ทุกอย่างต้องมีมิติที่อยู่ร่วมกันได้หมดทั้งทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และทักษะวิชาการ เพื่อที่จะนำไปสู่สิ่งที่เขาถนัดและสนใจจริงๆ
.
ขณะที่ นพ.สราวุฒิ บุญสุข กล่าวว่า ในวันนี้ที่ได้ลงพื้นที่ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ทางด้านสาธารณสุขก็ได้ลงมาดูในเรื่องที่เกี่ยวกับอนามัยโรงเรียน ในเรื่องของมิติทางด้านสุขภาพ ทำให้เด็กมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ซึ่งโรงเรียนนี้ก็สามารถทำได้ดี มีการตรวจสุขภาพ วัดสายตา ดูแลเรื่องส่วนสูงและน้ำหนักของนักเรียนอย่างสม่ำเสมออีกด้วย
- สพฐ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการลูกเสือดิจิทัล เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน - 18 กรกฎาคม 2024
- สพฐ. ขับเคลื่อนการจัดการศึกษามัธยมศึกษาสู่ สพม. เครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษาจังหวัด และโรงเรียนมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2567 - 25 เมษายน 2024
- รองเลขาธิการ กพฐ. “ธีร์” ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 11 (11th Asia – Pacific Regional Scout Leaders Summit, 2024) - 24 เมษายน 2024