วันที่ 25 มกราคม 2566 นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นำชาวราชบุรีต้อนรับ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมทั้งพี่น้องชาวการศึกษาในภาคกลางและภาคตะวันออกทุกคน ในพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดราชบุรี โดยมีนางบรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 พร้อมด้วยนางสาวสุภาวดี มิสุนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 นางสุชาดา ลิ่มสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี และนายพิทักษ์ สุระชาติ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดราชบุรี เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคกลางและภาคตะวันออก ณ จังหวัดราชบุรี
.
ได้รับเกียรติจาก นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธาน ในพิธีเปิดการจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดราชบุรี ในวันนี้ ขอชื่นชมคณะกรรมการจัดงานทุกท่านตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา อย่างจริงจังและต่อเนื่อง การจัดการศึกษานั้นมีเป้าหมายสูงสุดคือ การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา จึงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายที่ต้องจัดหาประสบการณ์ที่ดี ให้แก่ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ รวมถึงกระบวนการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้แสดงออกในทางที่ดี ทั้งในและนอกสถานศึกษา การจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน นับว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่งที่สะท้อนให้เห็นด้านต่าง ๆ แสดงถึงความสามารถของนักเรียนในด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การให้เกียรติผู้อื่นโดยมิได้มุ่งผลการแข่งขันอย่างเดียว นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมจำนวนมาก ทั้งระดับโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จังหวัด จนถึงระดับภาค
คณะกรรมการจัดงาน ที่ระบุถึงกรอบแนวคิด การจัดงานที่ว่า “หัตถศิลป์สร้างสรรค์ มุ่งมั่นวิชาการ สืบสานภูมิปัญญา เก่งกล้าเทคโนโลยี สร้างคนดีสู่สังคม” โดยผ่านกิจกรรมการแข่งขัน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค และการส่งเสริม SOFT POWER ในบริบทของแต่ท้องถิ่น ผ่านรูปแบบต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าการจัดการศึกษาทั้ง 72 เขตพื้นที่การศึกษา ใน 27 จังหวัด และศูนย์การศึกษาพิเศษ 27 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออก ได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาถูกทางและมีความสอดคล้องกับแนวนโยบาย ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอย่างดียิ่ง
ข้าพเจ้าขอชื่นชมและเป็นกำลังใจ แก่หน่วยงาน สถานศึกษาทุกแห่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน โดยเฉพาะผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานที่เสียสละทุ่มเทในการฝึกฝนจนสามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถสัมฤทธิผลในด้านต่าง ๆ จนเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน
.
โดยมี นางบรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 พร้อมด้วยนางสาวสุภาวดี มิสุนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 นางสุชาดา ลิ่มสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี และนายพิทักษ์ สุระชาติ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดราชบุรี ในนามคณะกรรมการจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ในนามกระทรวงศึกษาธิการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงริเริ่มการจัดงานศิลปหัตถกรรมสืบสานถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง “ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะแนะนำชักจูงให้เด็กชายหญิงในสมัยนั้น ได้เอาใจใส่ฝึกหัดศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นทางเลี้ยงอาชีพต่าง ๆ กัน การที่เด็กทั้งหลาย พากันนิยมในการเป็นเสมียนหรือเข้ารับราชการให้น้อยลง” และสานต่อเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษาที่มุ่งหวังให้ การจัดงานศิลปหัตถกรรมของนักเรียน เป็นเวทีให้นักเรียนแสดงออกถึงความรู้ความสามารถ พัฒนาทักษะด้านวิชาการ วิชาชีพ ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ ทักษะชีวิต โดยเน้นหลักกิจกรรมพัฒนา สมอง จิตใจ การลงมือปฏิบัติ และสุขภาพ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะฝีมือในด้านที่ถนัด พัฒนาให้เกิดความเป็นเลิศ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต และเผยแพร่ผลงานสู่สายตาสาธารณชน โดยการจัดงานได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ และวิธีการจัดการแข่งขันให้เป็นปัจจุบัน ไม่เน้นที่การแพ้ ชนะ แต่เน้นการพัฒนา การแสดงออกให้เต็มกำลัง ให้เกียรติกับตนเอง และเพื่อนที่ร่วมกิจกรรม รวมถึงการพัฒนาความสามารถในการควบคุมตนเองในสถานการณ์นั้น ๆ สอดรับกับนโยบายและบริบทการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนไป สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ และมีการให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค และ การส่งเสริม SOFT POWER ในบริบทของแต่ละท้องถิ่น ผ่านการแสดงในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการนำเสนอนิทรรศการที่มีชีวิต
การจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 70 ซึ่งจังหวัดราชบุรี เป็นเจ้าภาพ ในการจัดงานขึ้น ระหว่างวันที่25 – 27 มกราคม 2566 ภายใต้กรอบแนวคิด “หัตถศิลป์สร้างสรรค์ มุ่งมั่นวิชาการ สืบสานภูมิปัญญา เก่งกล้าเทคโนโลยี สร้างคนดีสู่สังคม” ซึ่งมีโรงเรียนทุกสังกัด ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าร่วมแข่งขัน โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น จำนวน 72 เขตพื้นที่การศึกษา ใน 27 จังหวัดและ ศูนย์การศึกษาพิเศษ 27 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก การจัดงานครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กรมการทหารช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ส่วนราชการต่าง ๆ ผู้บริหาร ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และประชาชนชาวจังหวัดราชบุรี ร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้อย่างดียิ่ง
- สพฐ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการลูกเสือดิจิทัล เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน - 18 กรกฎาคม 2024
- สพฐ. ขับเคลื่อนการจัดการศึกษามัธยมศึกษาสู่ สพม. เครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษาจังหวัด และโรงเรียนมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2567 - 25 เมษายน 2024
- รองเลขาธิการ กพฐ. “ธีร์” ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 11 (11th Asia – Pacific Regional Scout Leaders Summit, 2024) - 24 เมษายน 2024