เลขาธิการ กพฐ. เปิดเวทีการศึกษาดิจิทัล ส่งเสริมความปลอดภัยไซเบอร์ครูและนักเรียนทั่วประเทศ

27 กุมภาพันธ์ 2566 เลขาธิการ กพฐ. เปิดงานกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการศึกษาดิจิทัลและส่งเสริมความปลอดภัยในการท่องอินเทอร์เน็ตของครูและนักเรียนทั่วประเทศ

เนื่องในเดือนแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย (Safer Internet Month) Google ประเทศไทย และ กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการศึกษาดิจิทัลและส่งเสริมความปลอดภัยในการท่องอินเทอร์เน็ตของครูและนักเรียนทั่วประเทศ ณ โรงเรียนพญาไท กรุงเทพมหานคร เพื่อประกาศความสำเร็จของโครงการ ‘Be Internet Awesome’ และแผนเปิดใช้งาน ChromeOS Flex สำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากร

โดยที่ Google ประเทศไทย ได้เดินหน้าสนับสนุนให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นสำหรับคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ฝึกอบรมครูและนักเรียนไปแล้วกว่า 3.4 ล้านคนทั่วประเทศไทย ผ่านโครงการ Be Internet Awesome นอกจากนี้ Google ยังได้อัปเดตผลการดำเนินงานโครงการ Be Internet Awesome และแชร์ข้อมูลเชิงลึกจากงานวิจัยของ Kantar ซึ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจจากการสำรวจความคิดเห็นของครูผู้สอนที่ผ่านการฝึกอบรมในโครงการ Be Internet Awesome ดังนี้ 

  • ครู 93% กล่าวว่า Be Internet Awesome เป็นประโยชน์อย่างมากในการสอนเด็กๆ เรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ 
  • ครู 100% ยอมรับว่า Be Internet Awesome ช่วยให้นักเรียนมีความระมัดระวังในการใช้งานออนไลน์มากยิ่งขึ้น
  • ครู 99% ยอมรับว่าตั้งแต่สอน Be Internet Awesome พวกเขาเห็นนักเรียนมีปฎิสัมพันธ์ทางออนไลน์ในเชิงบวกมากขึ้น
  • ครู 99% มีแนวโน้มที่จะแนะนำ Be Internet Awesome ให้กับครูคนอื่นๆ 
  • ครูกว่า 9 ใน 10 คนพบว่า Be Internet Awesome ให้ความรู้ ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วม และใช้งานง่าย
  • ครู 99% กล่าวว่านักเรียนมีความเข้าใจดีขึ้นในวิธีการที่จะฝึกเป็นคนฉลาด ตื่นตัว ปลอดภัย ใจดี และกล้าหาญบนโลกออนไลน์
  • ครู 7 ใน 10 คนเห็นว่า Be Internet Awesome มีประสิทธิภาพในการสอนเรื่องความปลอดภัยออนไลน์มากกว่าเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนท่องโลกออนไลน์กันมากขึ้น และในปี 2565 พบว่า “การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์” (Cyberbullying) เป็นหนึ่งในหัวข้อด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่ผู้คนในไทยให้ความสนใจค้นหาบน Google มากเป็นอันดับต้นๆ โดยมีการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับปี 2564 ดังนั้น การลงทุนลงแรงเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง” และเพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงโลกออนไลน์และสามารถเรียนรู้การเป็นพลเมืองดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน Google จึงได้จัดทำหลักสูตรใหม่สำหรับปี 2566 ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นอกจากนี้ ยังสนับสนุนโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรในการสอนหลักสูตร Be Internet Awesome ด้วยการผนวกหลักสูตรนี้เข้ากับ ChromeOS Flex ทั้งนี้ สพฐ. ได้เริ่มนำร่องการใช้งาน ChromeOS Flex ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 2 ซึ่งจะช่วยดำเนินการปรับโฉมอุปกรณ์ของโรงเรียนกว่า 100 แห่ง ให้กลายเป็นอุปกรณ์ที่รวดเร็ว จัดการง่าย และใช้ระบบคลาวด์เป็นหลัก

ภายในงาน Google ยังได้ประกาศความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการเปิดใช้งาน ChromeOS Flex สำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากร ChromeOS Flex เป็นเวอร์ชันหนึ่งของระบบปฏิบัติการ Chrome ที่ช่วยปรับปรุงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รุ่นเก่าๆ ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มความเร็วและเสริมความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น โดย ChromeOS Flex ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในการดาวน์โหลด

การจัดงานในวันนี้ นับเป็นความมุ่งมั่นในการลดช่องว่างดิจิทัลเพื่อให้นักเรียนเข้าถึงโอกาสที่มาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่ และใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันได้อย่างยั่งยืน