สพฐ. ชื่นชม รร.เชียงรายปัญญานุกูล พัฒนา 30 อาชีพ ใส่ใจเด็กทุกมิติ

วันที่ 8 มีนาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมคณะทำงาน สพฐ. ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจ ผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักเรียน โรงเรียนเชียงรายปัญญานุกูล จ.เชียงราย และเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนด้วย Active Learning ที่หลากหลาย สามารถต่อยอดการประกอบอาชีพตามศักยภาพของนักเรียน

โดยโรงเรียนเชียงรายปัญญานุกูล จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีครูและบุคลากร 125 คน และจำนวนนักเรียน รวม 408 คน โดยรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติกและพิการซ้อน ในเขตจังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง และเชียงใหม่ บางส่วน ในรูปแบบอยู่ประจำและไปกลับ มีเรือนนอน 10 หลัง แบ่งเป็น เรือนนอนชาย 6 หลัง เรือนนอนหญิง 4 หลัง มีครูประจำเรือนนอนดูแลนักเรียน เรือนนอนละ 2 คนต่อคืน มีระบบการรักษาความปลอดภัยในเรือนนอนบ้านพักครู และบริเวณโดยรอบโรงเรียนตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. และคณะทำงาน ได้เข้าเยี่ยมชมร้านเชียงรายปัญญาฯ 2558 ศูนย์ฝึกปฏิบัติงานอาชีพนักเรียน (กาแฟไม่ธรรมดา) ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานอาชีพการจำหน่ายกาแฟ และสถานที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลงานอาชีพของนักเรียน โดยใช้ชื่อว่า “ผลิตภัณฑ์วิเศษ ของคนพิเศษ” มีกระบวนการผลิตเมนูไม่ธรรมดา ซึ่งมีส่วนผสมของชาเลือดมังกร จำนวน 3 เมนู คือ กาแฟไม่ธรรมดา ชาไม่ธรรมดา และชานมไม่ธรรมดา ซึ่งทางโรงเรียนได้มีการจัดการเรียนการสอนในการปลูกต้นเลือดมังกร การแปรรูปการทำชา และการนำชาเลือดมังกรมาเป็นส่วนผสมของเมนูไม่ธรรมดา และต่อยอดการสร้างและผลิตบรรจุภัณฑ์ “ชาเจียงฮาย เชียงรายปัญญา” ซึ่งนักเรียนได้เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป และการจัดจำหน่าย และโรงเรียนยังมีการจัดกิจกรรมการประดิษฐ์จานใบไม้เกื้อกูล ชิงเก็บ ลดเผา เปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นภาชนะเปลี่ยนขยะ แปรรูปสร้างรายได้ช่วยลดการเกิดไฟป่า ลดหมอกควัน และลดปริมาณฝุ่น PM2.5

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากการเยี่ยมโรงเรียนเชียงรายปัญญานุกูลในวันนี้ พบว่าโรงเรียนจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความรู้ด้านวิชาการควบคู่กับงานอาชีพ ซึ่งเป็นรายวิชาเพิ่มเติมที่หลากหลายตามศักยภาพ ความถนัด ความต้องการและพื้นฐานของครอบครัวในหลักสูตรสถานศึกษา โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มงานอาชีพให้กับนักเรียน กลุ่มงานอาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรม คหกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และพาณิชยกรรมและการบริการ จำนวน 30 หลักสูตร เช่น หลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม งานสานจากเส้นพลาสติก งานทอผ้าซาโอริ งานสวยดอก น้ำยาอเนกประสงค์ งานเครื่องหนัง งานผ้ามัดย้อม การทำเครื่องดื่ม งานอาชีพอิสระอย่างง่าย อาชีพไม่ธรรมดา เป็นต้น ซึ่งนักเรียนสามารถนำความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพได้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นให้นักเรียนมีทักษะชีวิต เพื่อให้นักเรียนสามารถทำงานได้ และอยู่ร่วมกับครอบครัว สังคม ได้อย่างมีความสุข

ทางด้านครูและบุคลากร มีการวิเคราะห์และรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ค้นพบศักยภาพและความสามารถของนักเรียน มีการจัดการเรียนการสอนด้านวิชาการควบคู่กับงานอาชีพตามศักยภาพและความสามารถของแต่ละบุคคล และโรงเรียนมีการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่สามารถทำงานอาชีพ มีทักษะในการทำงาน ในรายวิชาเพิ่มเติมที่เรียนได้ทุกขั้นตอน ซึ่งเรียกว่า “ทุนทำมาหากิน” ให้กับนักเรียนที่จบการศึกษา และมีการติดตามนักเรียนที่จบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนทุนประกอบอาชีพสำหรับนักเรียนและครอบครัวร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ซึ่งปีการศึกษา 2565 ต่อเนื่องปีการศึกษา 2566 จำนวน 3 ทุน และโรงเรียนมีเครือข่ายร่วมพัฒนาที่เข้มแข็งและหลากหลายให้การส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566 โรงแรมเชียงรายแกรนด์รูม ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ โรงเรียนเชียงรายปัญญานุกูล ในการส่งเสริมสนับสนุน เป็นพี่เลี้ยง ให้ความรู้ และเอื้อเฟื้อสถานที่ในการทำงาน การฝึกประสบการณ์งานอาชีพ การจำหน่ายผลผลิตงานอาชีพของนักเรียนอีกด้วย

“สิ่งที่ขอชื่นชมคือ ผู้บริหาร คณะครู และบุคลากรทุกคนของโรงเรียน ที่ช่วยกันสนับสนุน ส่งเสริม เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ค้นพบศักยภาพตามความถนัดของตนเอง ได้แสดงออกถึงความสามารถด้านต่างๆ ควบคู่กับการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี และนักเรียนมีความสามารถนำความรู้ ทักษะต่างๆ ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้จนประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต และต้องชื่นชมในการดูแลนักเรียน ซึ่งผู้บริหารและคณะครู รู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล มีความดูแลเอาใจใส่นักเรียนเป็นอย่างดี ให้ความรัก ความอบอุ่น มีความเมตตาต่อนักเรียน มีการประสานงาน ประสานความช่วยเหลือ เข้าถึงผู้ปกครอง ชุมชน ในการดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด สมควรเป็นแบบอย่างให้โรงเรียนและสถานศึกษาอื่นๆ ได้นำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทโรงเรียนของตน เพื่อพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนให้เป็นคนดีที่สามารถดูแลตนเองได้ รวมถึงร่วมรับผิดชอบต่อสังคมโดยเป็นคนดีที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ความมุ่งมั่นในการทำงานและกตัญญูต่อผู้ปกครอง รวมทั้งเป็นลูกศิษย์ที่ดีซึ่งเป็นที่น่าชื่นใจต่อผู้พบเห็นเป็นอย่างดี นักเรียนมีเงินเก็บและดูแลครอบครัวได้ ไม่ใช่เพียงดูแลตนเอง ซึ่งต้องชื่นชมต่อการปฏิบัติและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู โรงเรียน รวมทั้งเครือข่ายที่เข้มแข็งที่ร่วมกันสร้างโอกาสให้เด็กทุกๆคน ตามนโยบายของท่านเลขาฯ กพฐ.และ ตามคติที่สถานศึกษาในสังกัดการศึกษาพิเศษดำเนินการร่วมกันคือ “การศึกษาพิเศษไทย  หัวใจนำทาง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว