สพฐ. Kick off “คลินิก สตผ.” หนุนเสริม เพิ่มคุณค่า ร่วมพัฒนาการศึกษาไทย

วันที่ 9 มีนาคม 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off รายการ “คลินิก สตผ.” โดยมี นายอนันต์ พันนึก ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสื่อและการเรียนรู้ นางวรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านติดตามตรวจสอบการดำเนินการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายชนาธิป ทุ้ยแป รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา เข้าร่วม รายการคลินิก สตผ. ณ ห้องถ่ายทอดสด OBEC Channel รวมถึงรับชมรายการจากเขตพื้นที่การศึกษา ผ่านห้องประชุม ZOOM และผ่านช่องทาง OBEC Channel – YouTube และ Facebook Live

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการพูดคุยเรื่องการดำเนินงานเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ไปสู่เป้าหมายของประเทศ และกระทรวงศึกษาธิการ ตามยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สพฐ. ได้มอบนโยบาย จุดเน้น รวมไปถึงได้ชี้แจงกลไก และกระบวนการในการบริหารจัดการงาน ในการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศมาแล้ว โดยแบ่งเป็นส่วนที่เป็นการดำเนินงาน การวางแผน และการปฏิบัติ ทั้งนี้ เมื่อมีแผนลงสู่การปฏิบัติแล้ว กลไกสำคัญอีกอย่างก็คือ กระบวนการประเมินติดตามผลการดำเนินงาน ดังนั้น สพฐ. จึงให้ความสำคัญในเรื่องการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะเป็นตัวตรวจสอบว่าการที่เรามีแผน มีการนำแผนลงสู่การปฏิบัติไปแล้วเกิดผลตามวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมาย หรือมีปัญหาอุปสรรคหรือไม่ ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และได้จัดทำโครงการ “คลินิก สตผ.” ขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการนำนโยบาย จุดเน้น สพฐ. และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ สู่การปฏิบัติ รวมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ/ชี้แจงประเด็นข้อสงสัยในการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมชุมชนแห่งการเรียนรู้ในการขับเคลื่อนนโยบาย จุดเน้น สพฐ. สู่การปฏิบัติต่อไป

นายอนันต์ พันนึก ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สพฐ. มีนโยบายในเรื่องการติดตามและประเมินผล ที่มุ่งเน้นในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่

1. ติดตามเพื่อการพัฒนาและให้ความช่วยเหลือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้สามารถดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์ และมีผลสำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัดตามนโยบาย และแผนปฏิบัติราชการ สพฐ. ให้เป็นไปตามสภาพบริบทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน นวัตกรรมขับเคลื่อน (การติดตามตามห้วงเวลา เช่น การติดตามรอบ 6 เดือน : เป็นการตรวจสอบกระบวนการทำงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ทิศทางการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์)

2. แนวทางการดำเนินการติดตามฯ จะต้องลดความซ้ำซ้อนการรายงานผลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ลดภาระการรายงาน) โดยการบูรณาการข้อมูลที่สามารถใช้ร่วมกันได้เพื่อตอบประเด็นการติดตาม

3. ผลการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะเป็นการสะท้อนคุณภาพการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และนำไปสู่การพัฒนา และปรับปรุงแก้ไข 

4. เครื่องมือการติดตาม เป็นแนวทางในการหนุนเสริมการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ 

5. รูปแบบการติดตาม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (การรายงานผ่านระบบติดตาม e-MES) การลงพื้นที่เชิงประจักษ์ การติดตามออนไลน์ (ผ่านระบบ conference) และสื่อโซเชียล  

สำหรับ กิจกรรม Kick off รายการ “คลินิก สตผ.” ในวันนี้ ประกอบด้วย พิธีเปิด กิจกรรม Kick off “คลินิก สตผ.” โดย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. มอบนโยบายด้านการติดตามฯ และการหนุนเสริมการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ โดย นายอนันต์ พันนึก ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. การชี้แจงโครงการ และผลการสำรวจความคิดเห็น ความต้องการ ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติของ สพท. เพื่อจัดทำรายการ “คลินิก สตผ.” โดย นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การเสวนา ในหัวข้อ “Monitoring and Evaluation เข็มทิศการติดตามสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา วิถีใหม่ วิถีอนาคต” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายชนาธิป ทุ้ยแป รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา และนายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสื่อและการเรียนรู้ ผู้ดำเนินการเสวนา ได้แก่ นางวรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านติดตามตรวจสอบการดำเนินการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงกิจกรรม “ชอบกด ใช่กด ต่อเติมช่วย Comment” โดยร่วมกด Like & Share Facebook คลินิก สตผ. พร้อมตอบคำถามรับเกียรติบัตรโครงการฯ นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมองค์ความรู้ ข้อคำถาม-ตอบเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานผ่านเพจเฟซบุ๊ก คลินิก สตผ. และเว็บไซต์สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกด้วย

ทั้งนี้ สามารถติดตาม คลินิก สตผ. ได้ที่ช่องทาง Facebook คลินิก สตผ. https://www.facebook.com/profile.php?id=100090391777297 หรือฝากประเด็นคำถาม ที่ Line open chat คลินิก สตผ.