‘ตรีนุช’ ลงพื้นที่ปัตตานี มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครูชายแดนใต้จัดสวัสดิการ ทุนการศึกษาต่อเนื่อง พร้อมประธานลงนามขับเคลื่อนโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันที่ 13 มีนาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานมอบเงินเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ ระดับหน่วยงานหลักกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพัฒนะ พัฒนะทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และ นักเรียนร่วมในพิธี ณ โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

โดยศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และศูนย์พัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและ สนับสนุนให้นักเรียนในโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนได้เข้าศึกษาต่อจากระดับชั้นประถมศึกษา และได้ศึกษาต่อเนื่องจนสู่ระดับชั้นมัธยมศึกษา และระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพในสถานศึกษาอาชีวศึกษา รวมทั้งพัฒนาทักษะพื้นฐานอาชีพให้แก่นักเรียน โดยความร่วมมือของสถานศึกษาอาชีวศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการกำกับ ดูแล ติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานของ ศธ. ในครั้งนี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะให้ความร่วมมือในการวางแผนการส่งต่อนักเรียนในโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้  จากระดับชั้นประถมศึกษา สู่ระดับชั้นมัธยมศึกษา และระดับชั้น ปวช.ในสถานศึกษาอาชีวศึกษาโครงการอาชีวะ ฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะให้ความร่วมมือในการวางแผนการรับนักเรียน เข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาอาชีวศึกษา และพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานให้สถานศึกษา ควบคู่พัฒนาด้านอาชีพระหว่างโรงเรียนในโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับสถานศึกษาอาชีวศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) โดยศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการดำเนินกิจกรรมของทุกฝ่าย ตลอดจนประสานการกำกับ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินการให้ทราบ

ดังนั้น ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะเป็นการเสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาทักษะฝีมือนักเรียนให้มีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่สนใจตามความสามารถและความถนัดเพื่อต่อยอดในการประกอบวิชาชีพได้ ส่งผลต่อการหางานทำในสถานประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นผู้ประกอบการด้านอาชีพด้วยตนเองในพื้นที่ใกล้บ้าน ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและชุมชนให้เกิดขึ้น นำไปสู่สังคมที่เข้มแข็งอย่างยิ่งขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต

พร้อมกันนี้ในภาคบ่าย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้แก่ครอบครัวผู้ได้รับความเสียหาย ครั้งที่ 2 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 9 ราย ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 38 ราย เป็นเงิน 25,041,999.95 บาท โดยได้ช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 จำนวนทั้งสิ้น 112 ครอบครัว และกระทรวงศึกษาธิการ จัดสวัสดิการด้านอื่นๆ ให้ได้มาตรฐาน ใกล้เคียงกับส่วนราชการต่างๆ เพิ่มเติม รวมถึงสนับสนุนทุนการศึกษารายปีต่อเนื่องให้แก่ทายาทผู้ได้รับผลกระทบ ให้ได้รับการศึกษาตั้งแต่ระดับเด็กเล็กก่อนวัยเรียน จนจบปริญญาตรี เพื่อสร้างโอกาสทาง กำรศึกษา ให้เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะความสามารถ ในการประกอบอาชีพเพื่อสร้าง รายได้ และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของตนเอง และครอบครัวโดยปีการศึกษา 2562 –2565 จัดสรรทุนการศึกษาไปแล้วจำนวน 5,000 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 20,945,000 บาท

รมว.ศธ. กล่าวว่า “ที่ผ่านมา ดิฉันเดินทางมามอบเงินเยียวยาฯ และทุนการศึกษา ให้กับครูและบุคลากร ทางการศึกษา และครอบครัว ด้วยตัวเองทุกครั้ง ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นขวัญกำลังใจ ให้กับเพื่อนครูบุคลากรทางการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” และในโอกาสต่อไปก็จะได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่พิการหรือทุพพลภาพ จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 นอกจากการช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้วและการลงนามความร่วมมือฯ ดังกล่าวแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ ยังให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การพัฒนาร่วมกันให้ประชาชนทุก คนทุกช่วงวัย ได้มีโอกาสในการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดำเนินการเชิงบูรณาการความร่วมมือ โดยหน่วยงานในสังกัดประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศค.จชต.)

ขอบคุณภาพจาก สพป.นราธิวาส เขต 3