สพฐ. พร้อมหนุน ศธ. เสริม “สระแก้ว โมเดล” สร้างโรงเรียนคุณภาพเข้มแข็ง

วันที่ 16 มีนาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพ “สระแก้ว โมเดล” และโรงเรียนในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสระแก้ว โดยมีหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสระแก้ว และผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมในพิธี ณ หอประชุมโดมเอนกประสงค์ โรงเรียนอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
.
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายหลักการบริหารจัดการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนจังหวัดสระแก้ว อีกทั้ง นโยบายโครงการโรงเรียนคุณภาพ “สระแก้ว โมเดล” ต้นแบบระดับประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์จังหวัดสระแก้ว “เมืองชายแดนแห่งความสุขและมั่นคง ถิ่นเกษตรปลอดภัย แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและอารยธรรมโบราณ เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วยั่งยืน” ซึ่งการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน โดยได้มีการให้จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อให้มีความเป็นอิสระและความคล่องตัวให้เกิดการปฏิบัติและการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาของโรงเรียน จีงได้เกิดเป็นโครงการ “สระแก้ว โมเดล” นับเป็นโอกาสทองของจังหวัด ในการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์พื้นที่ของจังหวัดสระแก้วได้อย่างเด่นชัด
.
“การขับเคลื่อนการศึกษาด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม ร่วมใจสร้างผู้เรียนที่ดีขึ้น เพื่ออนาคตที่ดีกว่า จะช่วยสร้างความมั่นคง เสริมความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในปี 2566 เพื่อให้การศึกษาไทยเป็นรากฐานแห่งการพัฒนาในทุกมิติ นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างแท้จริง” รมว.ศธ. กล่าว
.
ทางด้าน นายอัมพร พินะสา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความประสงค์ให้โรงเรียนคุณภาพได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ และให้บริการโรงเรียนขนาดเล็กใกล้เคียง ในด้านอาคารสถานที่ อาคารเรียน อาคารประกอบ ด้านแหล่งเรียนรู้ ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา และตามโครงการโรงเรียนคุณภาพจังหวัดสระแก้ว มีแนวทางให้โรงเรียนคุณภาพและโรงเรียนเครือข่ายได้พัฒนาความพร้อม “ห้องเรียนคุณภาพ” จัดหาสื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรม ครู และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนได้รับโอกาสการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารแบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรวมของโรงเรียนในเครือข่าย ซึ่งหมายถึง การเปิดโอกาสให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกันของโรงเรียนในเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการจัดการทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความปลอดภัย ด้านโอกาส ด้านคุณภาพ และด้านประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงพื้นที่ และสำหรับ “สระแก้ว โมเดล” ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2566 มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม และมีแนวทางการพัฒนาในระยะต่อไปที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการและบริบทของจังหวัดสระแก้ว สมควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ขยายผลต่อไป
.
สำหรับการประชุมฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้อำนวยการโรงเรียนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 จำนวน 118 โรงเรียน และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสระแก้ว พื้นที่ อ.อรัญประเทศ อ.ตาพระยา อ.วัฒนานคร และ อ.โคกสูง จำนวน 7 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 125 โรงเรียน